ทุกครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ได้ทอดพระเนตรกับสภาพปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการปลูกข้าว ตลอดจนปัญหาด้านการเกษตรอื่นๆ และได้เกิดแรงดลพระราชหฤทัยเป็นแนวคิดด้านการเกษตร ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ดังนี้

การบริหารจัดการที่ดิน
     จากการที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำของเกษตรกร จึงได้เกิดแนวพระราชดำริขึ้น ในการจัดการที่ดินเพื่อให้ทำการเกษตรได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ เกิดเป็นแนวทฤษฎีใหม่ ด้วยการให้ที่ดินของเกษตรกรทุกแปลงมีแหล่งน้ำเป็นของตนเอง ทฤษฎีดังกล่าว เริ่มดำเนินการที่วัดมงคลชัยพัฒนา ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี กล่าวคือ
• แบ่งพื้นที่ถือครองที่ดินทางการเกษตร ด้วยการจัดสัดส่วนที่ดินที่ถือครองเป็น ๓๐-๓๐-๓๐-๑๐
• ส่วนแรก ที่ดินประมาณ ๓๐% สำหรับขุดสระกักเก็บน้ำจากน้ำฝน โดยขุดสระลึก ๔ เมตร จะมีน้ำ ๑๙,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอใช้ตลอดทั้งปีสำหรับการเกษตร ปศุสัตว์ และใช้ในครัวเรือน
• ที่ดินส่วนสองและสามรวมกันประมาณ ๖๐% เป็นพื้นที่การเกษตร โดยแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกสำหรับการทำนาข้าว และอีกส่วนหนึ่งสำหรับพืชสวนตามสภาพของพื้นที่หรือสภาวะตลาด
• ที่ดินส่วนสุดท้าย ๑๐% จัดเป็นที่พักอาศัย รวมถึงที่สำหรับปลูกพืชผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์
     ทั้งนี้ พระองค์ทรงคำนวณพบว่า วิธีดังกล่าวใช้ได้ผลดีกับเกษตรกรผู้ถือครองที่ดินประมาณ ๑๕ ไร่ ซึ่งหากดำเนินการตามแนวทฤษฏีดังกล่าว จะทำให้เกษตรกรมีความพอเพียงในการเลี้ยงตัวเอง ซึ่งทฤษฎีใหม่ของพระองค์ได้รับการพิสูจน์และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในหมู่เกษตรกรไทย และเห็นพ้องต้องกันว่า พระราชดำริของพระองค์ เกิดขึ้นด้วยพระอัจฉริยภาพอันสูงส่งที่สามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดผลได้อย่างจริงจัง
 
การป้องกันการเสื่อมโทรมและการพังทลายของดิน

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงสภาพปัญหาการชะล้างพังทลายของดินและการสูญเสียหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ จึงทรงศึกษาถึงศักยภาพของ “หญ้าแฝก” ซึ่งเป็นพืชพื้นบ้านของไทย ที่มีคุณสมบัติพิเศษในการช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินและอนุรักษ์ความชุ่มชื้นใต้ดิน ซึ่งมีวิธีการปลูกแบบง่าย ๆ เกษตรกรสามารถดำเนินการได้เองโดยไม่ต้องให้การดูแลหลังการปลูกมากนัก ทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าวิธีอื่น ๆ อีกด้วย จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการศึกษาทดลองเกี่ยวกับหญ้าแฝก

 

     หญ้าแฝก มีชื่อสามัญเป็นภาษาอังกฤษว่า Vetiver Grass มีด้วยกัน ๒ สายพันธุ์ คือ หญ้าแฝกดอน (Vetiveria nemoralis A. Camus) และหญ้าแฝกหอม (Vetiveria zizanioides Nash) เป็นพืชที่มีอายุได้หลายปี ขึ้นเป็นกอแน่น มีใบเป็นรูปขอบขนานแคบปลายสอบแหลม ยาว ๓๕-๘๐ ซม. มีส่วนกว้าง ๕-๙ มม. หญ้าแฝกจะมีการขยายพันธุ์ที่ได้ผลรวดเร็ว โดยการแตกหน่อ จากลำต้นใต้ดิน ในบางโอกาสสามารถแตกแขนงและรากออกในส่วนของก้านช่อดอกได้ เมื่อหญ้าแฝกโน้มลงดินทำให้มีการเจริญเติบโตเป็นกอหญ้าแฝกใหม่ได้
พระราชดำริของพระองค์ในการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ จะทำให้

 
• การพังทลายของดินลดน้อยลง เพราะรากของหญ้าแฝกจะฝังลึกลงไปในดินถึง ๓ เมตร และการปลูกในแถวตามระดับขวางความลาดชัน จะช่วยชะลอความเร็วของน้ำและเป็นการดักตะกอนดิน ทำให้พื้นดินเบื้องล่างชุ่มชื้น
• ช่วยแก้ปัญหาการพังทลายของดินเป็นร่องน้ำลึก รวมถึงป้องกันความเสียหายของขั้นบันไดดินหรือคันคูน้ำรอบเขา
• ในพื้นที่ลาดชันหรือไหล่ถนนที่ลาดชันสูง สามารถปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวรั้วตามแนวขวางความลาดเท เพื่อให้หญ้าแฝกยึดดินและเบี่ยงเบนทางน้ำไหล รวมถึงป้องกันการพังทลายและเลื่อนไหลของดินได้
• การปลูกหญ้าแฝกขนานไปกับแถวของไม้ผล หรือปลูกแบบวงกลมรอบไม้ผล หรือปลูกแบบครึ่งวงกลมหงายรับน้ำฝน จะช่วยอนุรักษ์ความชุ่มชื้นในดินได้
• ปลูกเพื่อป้องกันตะกอนดินทับถมลงสู่คลองส่งน้ำ ระบายน้ำ อ่างเก็บน้ำในไร่นาตลอดจนปลูกรอบสระ หรือปลูกเป็นแถวขนานไปกับแม่น้ำ ลำคลองเพื่อกรองตะกอนดิน
• สามารถปลูกเพื่อฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรมได้
• ในพื้นที่ดินดาน รากของหญ้าแฝกสามารถหลั่งลงไปในพื้นดินทำให้ดินแตกร่วนขึ้น และหน้าดินมีความชื้นเพิ่มขึ้น
• ปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารพิษในแหล่งน้ำ เพราะรากของหญ้าแฝกจะเป็นกำแพงกักกั้นดินและสารพิษที่ปะปนมากับน้ำไม่ให้ไหลลงสู่แหล่งน้ำเบื้องล่างได้ นอกจากนี้ คุณสมบัติพิเศษของรากหญ้าแฝกยังสามารถดูดซับธาตุโลหะหนักและสารเคมีบางอย่างได้อีกด้วย
• การปลูกหญ้าแฝกบนคันนา ช่วยยืดอายุของคันนาให้คงสภาพอยู่ได้นาน
• หญ้าแฝกสามารถนำมาใช้มุงหลังคาได้
• รากของหญ้าแฝกสามารถใช้แขวนในตู้เสื้อผ้า เพื่อให้กลิ่นหอมของรากช่วยไล่แมลงที่จะทำลายเสื้อผ้า
• สรรพคุณทางยาของหญ้าแฝก สามารถช่วยขับลมในลำไส้ แก้อาการท้องอืดเฟ้อ และแก้ไข้ได้ ส่วนรากสามารถสกัดทำน้ำมัน ซึ่งนำไปผลิตเป็นน้ำหอมได้ โดยขณะนี้ ประเทศฝรั่งเศสได้ผลิตน้ำหอมจากรากหญ้าแฝก ชื่อ “Vetiver”
 
 
     จากพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในการนำหญ้าแฝกมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ประกอบกับพระวิริยะอุตสาหะและพระปรีชาญาณอันยาวไกล ที่พระองค์ทรงศึกษา วิเคราะห์ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง สถาบัน International Erosion Control Association (IECA) จึงได้มีมติ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล The International Erosion Control Association’s International Merit Award แด่พระองค์ เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๖ ในฐานะที่ทรงเป็นแบบอย่างในการนำหญ้าแฝกมาใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ และเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำแห่งธนาคารโลก ได้นำคณะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททูลเกล้า ฯ ถวายแผ่นเกียรติบัตรเป็นภาพรากหญ้าแฝกชุบสำริด ซึ่งเป็นรางวัลสดุดีพระเกียรติคุณ (Award of Recognition) ในฐานะที่ทรงมุ่งมั่นในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ และผลการดำเนินงานหญ้าแฝกในประเทศไทยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ไปทั่วโลก
 
เส้นทางเกลือ
     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพบว่า ราษฎรในพื้นที่ต่างๆ ทางภาคเหนือและภาคอีสาน มีปัญหาการขาดสารไอโอดีนจนเกิดเป็นโรคคอพอกเป็นจำนวนมาก และได้เข้ารับการรักษาจากคณะแพทย์หลวงที่ตามเสด็จพระองค์อยู่เสมอ ทำให้พระองค์ ทรงสนพระราชหฤทัยในการแก้ไขโรคขาดสารไอโอดีนเป็นอย่างมาก โดยได้ทรงเสด็จฯ ไปเยี่ยมชมกิจกรรมของมหาวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ และทอดพระเนตรการสาธิตการทำงานของเครื่องผสมเกลือไอโอดีน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยฯ ได้ผลิตและน้อมเกล้าฯ ถวาย ซึ่งต่อมา พระองค์ได้พระราชทานต่อให้กับจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ ที่ราษฎรประสบกับปัญหาการขาดสารไอโอดีน พร้อมทั้งได้พระราชทานพระราชแนวพระราชดำริเกี่ยวกับเส้นทางเกลือไว้ดังนี้

• ศึกษาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดสารไอโอดีนตั้งเริ่มจากแหล่งผลิตจนถึงผู้บริโภค
• นำไอโอดีนไปผสมกับแหล่งผลิตหรือแหล่งจัดจำหน่าย
• พื้นที่ที่ไม่สามารถเติมไอโอดีนที่แหล่งต้นทางได้
ก็นำเครื่องผสมไอโอดีนไปให้บริการในลักษณะของการบริการแบบเคลื่อนที่
• ทรงกำหนดให้อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอำเภอต้นแบบของการศึกษาและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนสารไอโอดีน
ทฤษฎีแกล้งดิน

     หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในเขตจังหวัดนราธิวาส เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ทรงพบว่า
ดินในพื้นที่พรุที่มีการชักน้ำออก เพื่อจะนำที่ดินมาใช้ทำการเกษตรนั้น แปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด ทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผล จึงมีพระราชดำริให้ส่วนราชการต่าง ๆ พิจารณาหาแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่พรุที่มีน้ำแช่ขังตลอดปีให้เกิดประโยชน์ในทางการเกษตรมากที่สุด และให้คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ด้วย การแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด เนื่องจากดินมีลักษณะเป็นเศษอินทรีย์วัตถุหรือซากพืชเน่าเปื่อย อยู่ข้างบนและมีระดับความลึก ๑-๒ เมตร เป็นดินเลนสีเทาปนน้ำเงิน ซึ่งมีสารประกอบกำมะถัน ที่เรียกว่า สารประกอบไพไรท์ (Pyrite : FeS๒) อยู่มาก ดังนั้น เมื่อดินแห้ง สารไพไรท์จะทำปฏิกิริยากับอากาศ ปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินแปรสภาพเป็นดินกรดจัดหรือเปรี้ยวจัด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงได้ดำเนินการสนองพระราชดำริโครงการ "แกล้งดิน" เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดิน เริ่มจากวิธีการ "แกล้งดินให้เปรี้ยว" คือทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน ซึ่งจะไปกระตุ้นให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินเป็นกรดจัดจนถึงขั้น "แกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด" จนกระทั่งถึงจุดที่พืชไม่สามารถเจริญงอกงามได้ จากนั้นจึงหาวิธีการปรับปรุงดินดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชได้ วิธีการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัดตามแนวพระราชดำริ คือควบคุมระดับน้ำใต้ดิน เพื่อป้องกันการเกิดกรดกำมะถัน จึงต้องควบคุมน้ำใต้ดินให้อยู่เหนือชั้นดินเลนที่มีสารไพไรท์อยู่ เพื่อมิให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนหรือถูกออกซิไดซ์


     จากการทดลอง ทำให้พบว่า วิธีการปรับปรุงดินตามสภาพของดินและความเหมาะสม มีอยู่ ๓ วิธีการด้วยกัน คือ

• ใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด เพราะเมื่อดินหายเปรี้ยว จะมีค่า pH เพิ่มขึ้น หากใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสเฟต ก็จะทำให้พืชให้ผลผลิตได้
• ใช้ปูนมาร์ลผสมคลุกเคล้ากับหน้าดิน
• ใช้ทั้งสองวิธีข้างต้นผสมกัน
 
การพัฒนาเพื่อพึ่งตนเองของเกษตรกร

     แนวพระราชดำริที่เกี่ยวกับการพัฒนาชนบทที่สำคัญ คือการที่ทรงมุ่งช่วยเหลือพัฒนาให้เกิดการพึ่งตนเองของคนในชนบท ทำให้กิจกรรมหรือโครงการตามแนวพระราชดำริที่ดำเนินการอยู่นั้น ต่างก็มีเป้าหมายสุดท้าย คือการพึ่งตนเองได้ของราษฎรในพื้นที่นั้นๆ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินการสาธิตให้ประชาชนได้ดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งเป็นไปตามหลักการพัฒนาชุมชนอย่างแท้จริง โดยหลักการของพระองค์ท่าน จะไม่ใช้วิธีสั่งการ หากแต่ทรงใช้หลักการมีส่วนร่วมของราษฎร โดยทรงเน้นให้พึ่งตนเองและช่วยเหลือตนเองได้เป็นสำคัญ นอกจากนี้ ยังทรงใช้หลักประชาธิปไตยในการดำเนินการ กล่าวคือ หากมีเจ้าหน้าที่ทักท้วงในทางวิชาการ พระองค์จะทรงรับฟังอย่างเป็นกลาง และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนโครงการให้เหมาะสมกับปัจจัยอื่นๆ อยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังทรงยึดสภาพของท้องถิ่นเป็นหลักในการดำเนินการตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี
ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนนั้น พระองค์จะทรงใช้วิธีการ “ระเบิดจากข้างใน” คือเตรียมชุมชนให้พร้อมที่จะติดต่อกับโลกภายนอกอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ยังทรงสนับสนุนให้มีการส่งเสริมความรู้ในด้านต่างๆ ที่ราษฎรสามารถรับได้ และนำไปปฏิบัติได้จริง

     และเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พระองค์ยังทรงปฏิรูประบบราชการเพื่อให้เกิดเอกภาพทางการบริหาร เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งจะทำหน้าที่รวบรวมประชาชนที่มีปัญหาเดือดร้อน ให้เกิดการรวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหานั้นๆ ในทางปฏิบัติ โดยภาครัฐจะแก้ไขตามหลักวิชาการ พร้อมทั้งรวบรวมความต้องการพื้นฐานของราษฎร และนำกลับมาหาวิธีการพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างภาครัฐและประชาชน ลดช่องว่างของความไม่เข้าใจกันให้ลดน้อยลง และเป็นแหล่งเสริมสร้างการเรียนรู้ของประชาชนกับศูนย์ราชการ ปัจจุบัน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีอยู่ ๖ ศูนย์ดังนี้

• ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา
• ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสามพระยา อ.ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
• ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสนามไชย อ.ท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
• ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อ.เมือง จังหวัดสกลนคร
• ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
• ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลกะลุวอเหนือ อ.เมือง จังหวัดนราธิวาส
     ทุกครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ใดๆ จะทรงมีพระราชปฏิสันถารกับ ราษฎร ให้รับทราบในข้อมูลต่างๆ เช่น การปลูกหญ้าแฝกจะช่วยป้องกันดิน พังทลาย และใช้ปุ๋ยธรรมชาติจะ ช่วยประหยัดและบำรุงดิน การแก้ไขดินเปรี้ยวในภาคใต้ สามารถกระทำได้ การตัด ไม้ทำลายป่าจะทำให้ฝนแล้ง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังทรงสร้างความสนใจของราษฎรให้มีต่อโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยการเรียก ชื่อที่แปลกหู น่าสนใจ เช่น โครงการแก้มลิง โครงการแกล้งดิน โครงการเส้นทางเกลือ เป็นต้น ซึ่งพระองค์จะ ทรงมีพระราชาธิบายกับราษฎรอย่างละเอียดและเข้าใจได้ง่ายอีกด้วย

 

 

การเกษตร
การบริหารจัดการน้ำ
เทคโนโลยีสารสนเทศ
ดนตรี
จิตรกรรม
ประติมากรรม
ถ่ายภาพ
หัตถกรรม
สถปัตยกรรม
กีฬา
วรรณกรรมและการแปล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ห้ามนำข้อมูลของเวปไซท์นี้ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร