ประติมากรรม เป็นสาขาหนึ่งของวิชาวิจิตรศิลป์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงแสดงออกถึงพระปรีชาสามารรถในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งพระองค์ได้ทรงศึกษา ค้นคว้าเทคนิคและวิธีการต่างๆ ในงานประติมากรรมด้วยพระองค์เอง และทรงเข้าพระราชหฤทัยในกระบวนการและขั้นตอนของงานด้านประติมากรรมเป็นอย่างดี

     ผลงานประติมากรรมฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาทิ

- ประติมากรรมลอยตัวรูปปั้นผู้หญิงเปลือยคุกเข่า
ขนาดความสูง ๙ นิ้ว ทรงปั้นด้วยดินน้ำมัน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในตู้บนพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
- พระรูปปั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
พระรูปปั้นขนาดครึ่งพระองค์ สูง ๑๒ นิ้ว ทรงปั้นด้วยดินน้ำมัน ต่อมา อาจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ประติมากรที่ถวายงานพระองค์ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตทำแม่พิมพ์หล่อเป็นปูนปลาสเตอร์ ประติมากรรมชิ้นนี้ พระองค์ทรงจัดท่าทางและองค์ประกอบได้อย่างกลมกลืน สะท้อนให้เห็นคุณค่าของความสง่างาม ปัจจุบัน เก็บรักษาไว้ในตู้บนพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต

     นอกจากประติมากรรมฝีพระหัตถ์สององค์ดังกล่าวแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการสร้างพระพุทธรูปด้วย ดังนี้

- เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปปางประทานพร ภ.ป.ร. โดยให้ดัดแปลงแก้ไขพระพุทธลักษณะจากการสร้างครั้งแรก โดยทรงมีแนวพระราชดำริแก่ช่างปั้นว่า พระพุทธรูปปางประทานพร ภ.ป.ร. ควรจะมีพระพุทธลักษณะเข้มแข็งแต่ไม่แข็งกระด้าง อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ และให้ดูมีเมตตา คนที่จิตใจอ่อนไหวเมื่อได้ชมพระพุทธรูปองค์นี้ก็ให้จิตใจเข้มแข็งขึ้น ตลอดการปั้นและการหล่อ พระองค์ทรงควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด
- เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ ทรงมีพระราชดำริสร้างพระพิมพ์ส่วนพระองค์ โดยโปรดเกล้าฯ ให้แกะแบบแม่พิมพ์ด้วยหินลับมีดโกนแล้วหล่อเป็นปูนปลาสเตอร์ จากนั้นทำแม่พิมพ์ด้วยขี้ผึ้งจากรูปหล่อปูนปลาสเตอร์ ทั้งนี้ พระองค์ทรงบรรจุผงศักดิ์สิทธิ์ตามวิธีของพระองค์ด้วยพระองค์เอง หลังจากนั้นได้เปลี่ยนแม่พิมพ์ขี้ผึ้งเป็นแม่พิมพ์ยาง ทำให้หล่อพระพิมพ์ได้คราวละหลายครั้ง
พระพิมพ์ส่วนพระองค์นี้ ได้พระราชทานแก่ข้าราชบริพารและบุคคลอื่นเพื่อสักการะบูชา โดยทรงมีรับสั่งให้ผู้รับพระราชทานนำพระพิมพ์ไปปิดทองที่ด้านหลังองค์พระพิมพ์ ต่อมา พระพิมพ์รุ่นดังกล่าว เป็นที่รู้จักกันดีในนามของ หลวงพ่อจิตรลดา หรือพระกำลังแผ่นดิน
- เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ ทรงมีพระราชประสงค์จะทรงทดลองหล่อพระเศียรพระพุทธรูปด้วยพระองค์เอง จากแบบพระพุทธรูปปางประทานพร ภ.ป.ร. โดยทรงหล่อจากพระเศียรต่ำลงมาถึงพระอุระ จากนั้นทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงพระกรพระหัตถ์ให้เป็นแบบปางมารวิชัย หรือสะดุ้งมาร คือเปลี่ยนจากหงายเป็นคว่ำลง
- เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙ ทรงหล่อพระปางมารวิชัยทั้งองค์ ขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว และโปรดเกล้าฯ ให้ปรับแบบฐานจากฐานเขียงเป็นฐานบัวที่มีขนาดพอใส่พระพิมพ์ส่วนพระองค์ได้ จากนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ช่างหล่อพระพุทธรูปเนื้อทองสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย จำนวน ๑๐๐ องค์ เพื่อพระราชทานไปประดิษฐาน ณ จังหวัดต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้ขนานพระนามพระพุทธรูปนั้นว่า “พระพุทธนวราชบพิตร” ซึ่งต่อมา พระพุทธนวราชบพิตร ได้กลายเป็นนิมิตหมายแห่งความผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับพสกนิกรของพระองค์ ถือเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญยิ่งในรัชกาลปัจจุบัน

 

 

การเกษตร
การบริหารจัดการน้ำ
เทคโนโลยีสารสนเทศ
ดนตรี
จิตรกรรม
ประติมากรรม
ถ่ายภาพ
หัตถกรรม
สถปัตยกรรม
กีฬา
วรรณกรรมและการแปล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ห้ามนำข้อมูลของเวปไซท์นี้ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร