แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงศึกษาภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาละติน ในขณะที่ทรงเข้ารับการศึกษาที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่พระองค์ก็ทรงศึกษาภาษาไทยอย่างจริงจังด้วย และทรงพระปรีชาสามารถในการใช้ภาษาไทยได้อย่างจับใจประชาชนตั้งแต่ทรงดำรงพระยศเป็นพระอนุชาธิราช
ทรงมีผลงานด้านวรรณกรรมและการแปล รวมทั้งสิ้น ๑๗ เรื่อง ดังนี้

วรรณกรรมทรงพระราชนิพนธ์
พระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชานุกิจรัชกาลที่ ๘
     ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องราวกิจวัตรของรัชกาลที่ ๘ ทั้งกิจวัตรส่วนพระองค์ พระราชกิจ และพระราชานุกิจขณะเสด็จประพาสสถานที่ต่างๆ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในการพระราชกุศล ๑๐๐ วันพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ณ วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ซึ่งภาษาที่ทรงใช้จะเป็นภาษาที่สั้น กระชับ และได้ใจความชัดเจน
พระราชนิพนธ์เรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิตเซอร์แลนด์”
     ทรงพระราชนิพนธ์เพื่อพระราชทานเป็นพิเศษแก่หนังสือวงวรรณคดี ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นพระราชนิพนธ์รูปแบบบันทึกประจำวัน ตั้งแต่เสด็จฯ จากประเทศไทย เพื่อไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ช่วงก่อนเดินทางจากเมืองไทยไปยังตำหนักวิลลาวัฒนา คือ ระหว่างวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ - ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ซึ่งพระราชนิพนธ์นี้ ทรงพรรณนาความรู้สึกของพระองค์ขณะจากเมืองไทย สะท้อนให้เห็นถึงความรัก ความผูกพัน และความห่วงใยในพสกนิกรของพระองค์
พระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก
     หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ แห่งวัดราชผาติการาม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เรื่องพระมหาชนกเสด็จทอดพระเนตรพระราชอุทยานในกรุงมิถิลา พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัย จึงทรงค้นคว้าเรื่องพระมหาชนเพิ่มเติมในพระไตรปิฏก และทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ และแปลเป็นภาษาสันสกฤตอีกภาษาหนึ่ง ก่อนจะแปลเป็นฉบับการ์ตูน ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ เพื่อให้อ่านและเข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถพิจารณาหาแนวดำเนินชีวิตที่เป็นมงคลได้
พระราชนิพนธ์เรื่องทองแดง
     พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ ได้แฝงข้อคิดคติธรรมที่มีคุณค่า โดยเฉพาะความกตัญญูรู้คุณของทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๑

 

งานแปล
ติโต
     ผลงานแปลชิ้นแรกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยทรงแปลจากหนังสือ Tito ของ Phyllis Auty ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เพื่อให้ข้าราชบริพารได้ทราบถึงบุคคลที่น่าสนใจคนหนึ่งของโลก ติโต เป็นผู้ที่ทำให้ประเทศยูโกสลาเวียที่ประกอบด้วยประชาชนจากหลากหลายชนเผ่า มีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องของเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ สามารถรวมตัวกันเป็นปึกแผ่นยามที่ประเทศชาติต้องพบกับภาวะวิกฤติ เพื่อร่วมกันรักษาความอุดมสมบูรณ์ และความเจริญของประเทศไว้ หนังสือติโตนี้ ได้จัดพิมพ์เป็นเล่ม และวางจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๓๗
เศรษฐศาสตร์ตามนัยของพระพุทธศาสนา
    บทที่ ๔ เล็กดีรสโต แปลจาก Small is Beautiful โดย E.F.Schumacher หน้า ๕๓-๖๓
นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ
    เป็นงานแปลชิ้นที่สองของพระองค์ท่าน โดยทรงแปลจากหนังสือ A Man Called Intrepid ของ William Stevenson ทรงเริ่มแปลหน้าแรกเมื่อ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐ และแปลหน้าสุดท้ายเมื่อ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ โดยใช้เวลาในการแปลรวมทั้งสิ้น ๒ ปี ๙ เดือน ๓ วัน แต่ได้นำมาจัดพิมพ์เพื่อวางจำหน่ายก่อนหนังสือติโต ซึ่งทรงแปลเป็นเล่มแรก คือจัดพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖

 

บทความที่ทรงพระราชนิพนธ์แปลและเรียบเรียง
“ข่าวจากวิทยุเพื่อสันติภาพและความก้าวหน้า” จาก “Radio Peace and Progress” ในนิตยสาร Intelligence Digest ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๘
 "การคืบหน้าของมาร์กซิสต์" จาก "The Marxist Advance" Special Brief
"รายงานตามนโยบายของคอมมูนิสต์" จาก "Following the Communist Line"
"ฝันร้ายไม่จำเป็นจะต้องเป็นจริง" จาก "No Need for Apocalypse" ในนิตยสาร The Economist ฉบับลงวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘
"รายงานจากลอนดอน" จาก " London Report" ในนิตยสาร Intelligence Digest Weekly Review ฉบับลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๘
"ประเทศจีนอยู่ยง" จาก "Eternal China" ในนิตยสาร Intelligence Digest Weekly Review ฉบับลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘
"ทัศนะน่าอัศจรรย์จากชิลีหลังสมัยอาล์เลนเด" จาก "Surprising Views from a Post Allende Chile" ในนิตยสาร Intelligence Digest Weekly Review ฉบับลงวันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘
"เขาว่าอย่างนั้น เราก็ว่าอย่างนั้น" จาก " Sauce for the Gander..." ในนิตยสาร Intelligence Digest Weekly Review ฉบับลงวันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘
"จีนแดง ตั้วเฮียค้ายาเสพติดแห่งโลก" จาก "Red China Drug Pushers to the World " ในนิตยสาร Intelligence Digest Weekly Review ฉบับลงวันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘
"วีรบุรุษตามสมัยนิยม" จาก " Fashion in Heroes" โดย George F. Will ในนิตยสาร Newsweek ฉบับลงวันที่ ๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒

 

     จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรีชาสามารถในหลายภาษา ทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยในการที่จะพระราชนิพนธ์หรือแปลได้อย่างผู้ที่เข้าถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียนต้นฉบับ สำหรับพระราชนิพนธ์แปล จะทรงแปลตามความมากกว่าแปลตามคำ ด้วยเหตุที่ทรงเลือกสรรถ้อยคำให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมที่ผู้อ่านจะสื่อเรื่องราวได้ ทำให้พระราชนิพนธ์แปลของพระองค์ มีอรรถรสแบบไทยแทรกพระอารมณ์ขันไว้ได้อย่างเหมาะสม


     สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยะด้านวรรณศิลป์ของพระองค์อย่างสมบูรณ์ คือพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ซึ่งพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในเล่มเดียวกัน และจะทรงเลือกใช้ภาษาโบราณ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อคงความขลังของเนื้อหาในบางตอน ซึ่งในเรื่องพระมหาชนกนี้ พระองค์ได้ทรงแสดงพระอัจฉริยภาพด้านทัศนศิลป์ไว้ด้วย นั่นคือภาพประกอบฝีพระหัตถ์ของพระองค์ โดยทรงใช้คอมพิวเตอร์วาดภาพแสดงเส้นทางเดินเรือของพระมหาชนก รวม ๔ ภาพ คือภาพวันที่ควรออกเดินทาง ภาพวันเดินทาง ภาพวันที่เรือล่ม และภาพพระมหาชนกทรงว่ายน้ำ และนอกจากนี้ พระราชนิพนธ์แปลของพระองค์ จะทรงเลือกสรรคำ โดยเฉพาะพระองค์ทรงโปรดที่จะใช้คำแปลกๆ เพื่อให้พระราชนิพนธ์ของพระองค์มีสีสัน


 

การเกษตร
การบริหารจัดการน้ำ
เทคโนโลยีสารสนเทศ
ดนตรี
จิตรกรรม
ประติมากรรม
ถ่ายภาพ
หัตถกรรม
สถปัตยกรรม
กีฬา
วรรณกรรมและการแปล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ห้ามนำข้อมูลของเวปไซท์นี้ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร