ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เมื่อ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ พิจารณาหาพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อจัดทำโครงการพัฒนาอาชีพการประมงและการเกษตร ในบริเวณที่ดินชายทะเลของจังหวัดจันทบุรี พร้อมทั้งทรงมีพระราชดำริเพิ่มเติมให้พิจารณาจัดหาพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม หรือพื้นที่สาธารณประโยชน์ เพื่อจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเกี่ยวกับการพัฒนาในเขตพื้นที่ชายทะเล

     ทั้งนี้ ศูนย์การศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน มีพื้นที่ครอบคลุม ๒๓ หมู่บ้าน มีสภาพเป็นที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล จนถึงที่ราบเชิงเขา แนวทางการพัฒนาควรเป็นแบบผสมผสานระหว่างการส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ และการอนุรักษ์ป่าชายเลนรอบอ่าวคุ้งกระเบน ตลอดจนพัฒนาด้านการเกษตรบริเวณที่ราบ และสวนผลไม้บริเวณเชิงเขา ส่วนพื้นที่รอบนอก ควรพัฒนาด้านการเกษตรควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งผสมผสานการพัฒนาอาชีพในด้านต่าง ๆ โดยมีกรมประมงเป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบประสานการดำเนินงาน พร้อมทั้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องอีก ๓๒ หน่วยงาน มีแผนงานที่จะต้องดำเนินงานรวม ๖ แผนงาน ได้แก่

๑. แผนงานหลัก
๑.๑ แผนศึกษาและพัฒนาการประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง
๑.๒ แผนศึกษาและพัฒนาการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๑.๓ แผนศึกษาและพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์
๑.๔ แผนศึกษาและพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต
๒. แผนงานต่อเนื่อง คือ แผนบริการวิชาการ และถ่ายทอดเทคโนโลยี
๓. แผนงานสนับสนุน คือแผนงานบริหารและจัดการ


     ศูนย์การศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากสถาบัน CIDA (Canadian International Development Agency) ประเทศแคนาดา โดยสนับสนุนงบประมาณด้านการจัดการทรัพยากรชายฝั่งประมาณ ๗๐ ล้านบาท โดยมีการพัฒนาในด้านต่างๆ ดังนี้

การพัฒนาด้านการประมง
     เป็นการผสมผสานในเรื่องการพัฒนาอาชีพร่วมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ส่งเสริมอาชีพการประมง เลี้ยงปลาในกระชัง การเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ระบบปิดเพื่อการลดมลพิษ และการเลี้ยงกุ้งกุลาดำด้วยระบบชลประทานน้ำเค็ม เพื่อสาธิต พัฒนา และรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป จนสามารถรวมกลุ่มเกษตรกรในนาม “กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์น้ำอ่าวคุ้งกระเบนด้วยระบบชลประทานน้ำเค็ม” นอกจากนี้ยังมีงานผลิตสัตว์น้ำ เพื่อปล่อยสู่แหล่งธรรมชาติและแจกจ่ายให้เกษตรกร หรือ หน่วยราชการ และการจัดทำปุ๋ยดินเลนนากุ้ง คือนำของเสียจากการเลี้ยงกุ้ง ไปผสมเปลือกผลไม้และฟางข้าว ผลิตเป็นปุ๋ย
การพัฒนาด้านป่าไม้
     ปัจจุบันสภาพป่าชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์และมีความหนาแน่นที่สุดในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี คือมีป่าชายเลนมากกว่า ๑,๑๒๒ ไร่ นอกจากนี้ ยังใช้ป่าชายเลนเป็นตัวบำบัดคุณภาพน้ำจากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ รวมถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าบกอีกกว่าหมื่นไร่
การพัฒนาการด้านการเกษตร
     ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้เกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมและพัฒนาสวนไม้ผล ในรูปแบบเกษตรผสมผสาน และทฤษฎีใหม่ เพื่อเพิ่มกิจกรรมทางการเกษตรให้หลากหลายและลดความเสี่ยงจากการที่ผลผลิตมีราคาตกต่ำ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้มีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและการประมง โดยจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรผลิต สินค้าพื้นเมือง และดำเนินการจัดตั้งร้านค้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มแม่บ้าน เพื่อเป็นตลาดระบายสินค้า และ เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพัฒนา
     มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และการเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อาทิ
• กิจกรรมสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน ได้รับรางวัล “ยอดเยี่ยมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” เมื่อปี ๒๕๔๓ และ “รางวัลดีเด่นประเภทหน่วยงานส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว” ปี ๒๕๔๕ จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
• สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ บริเวณแหลมเสด็จ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามว่า “สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติ ๖ รอบ พระชนมพรรษา” ซึ่งเปิดให้เข้าชมเมื่อต้นปี ๒๕๔๔
• เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติเขตห้ามล่าสัตว์ป่าคุ้งกระเบน เป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าบก ประกอบด้วย ป่าดิบชื้น และป่าเบญจพรรณ ระยะทาง ๑,๕๐๐ เมตร เริ่มเปิดให้คนทั่วไปได้เที่ยวชมในปี ๒๕๔๒ และในปี ๒๕๔๔ ได้จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติเขาคุ้งกระเบนขึ้น อีก ๑ จุด ระยะทาง ๘๐๐ เมตร

 

การเกษตร
สิ่งแวดล้อม
การสาธารณสุข
การส่งเสริมอาชีพ
การพัฒนาแหล่งน้ำ
การคมนาคมสื่อสาร
สวัสดิการสังคม
ตัวอย่างโครงการ

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ห้ามนำข้อมูลของเวปไซท์นี้ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร