โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๒๕ ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น บริเวณป่าขุนแม่กวง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ทดลอง วิจัย เพื่อหารูปแบบการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคเหนือ และเผยแพร่แก่ราษฎรให้สามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเองต่อไป โดยต้นทางเป็นการศึกษาสภาพพื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำลำธาร และปลายทางเป็นการศึกษาด้านการประมงตามอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ระหว่างทางเป็นการศึกษาด้านการเกษตร ด้านปศุสัตว์และโคนม และด้านเกษตรอุตสาหกรรม ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นศูนย์ที่สมบูรณ์แบบ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรที่จะเข้ามาศึกษากิจกรรมต่าง ๆ ภายในศูนย์แล้วนำไปใช้ปฏิบัติอย่างได้ผลต่อไป

     ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ได้ดำเนินงานตามแผนงานข้างต้นและ มีผลการศึกษาทดลองเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ มากมาย ซึ่งงานศึกษา วิจัย ในแต่ละด้านของศูนย์ฯ ประสบความสำเร็จลุล่วงไปเป็นอย่างดี โดยเฉพาะงานด้านพัฒนาป่าไม้ งานพัฒนาแหล่งต้นน้ำลำธาร มีการก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธาร ซึ่งเป็นวิธีสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ด้วยวิธีง่าย ๆ ประหยัดและได้ผลดี ทำให้ชะลอความชุ่มชื้นตามลำห้วยธรรมชาติได้ และนับตั้งแต่ศูนย์ฯ เริ่มดำเนินการสภาพป่าไม้ต้นน้ำลำธารที่เสื่อมโทรมอยู่แต่เดิมได้เปลี่ยนสภาพคืนกลับไปสู่ป่าสมบูรณ์มากขึ้น จากการสำรวจพื้นที่ป่าไม้ พบว่าป่าไม้มีความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มขึ้น ทั้งจำนวนของพรรณไม้ ความหนาแน่นของต้นไม้ สภาพแวดล้อมได้รับการฟื้นฟูในทางที่ดีขึ้น มีกล้วยไม้ป่าหลากหลายชนิด และมีสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้นทั้งชนิดและจำนวน นอกจากนี้ยังพบว่า ไม่มีไฟป่าเกิดขึ้นในพื้นที่ศูนย์ฯ ด้านการพัฒนาทางการเกษตร ราษฎรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนอาชีพการเพาะเห็ด ทำให้เกิดรายได้เสริมให้กับครอบครัวนอกเหนือจากรายได้จากการประกอบอาชีพการเกษตรอื่นๆ

     อย่างไรก็ดี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ก็ยังมีแผนที่จะดำเนินงานในรูปแบบเชิงรุกมากขึ้น เพื่อเผยแพร่ผลสำเร็จของการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ โดยการจัดทำการท่องเที่ยวเชิงพัฒนาขึ้น เยี่ยมชมกิจกรรมต่าง ๆ ภายในศูนย์ ในลักษณะของการท่องเที่ยวชมรูปแบบของการพัฒนาตามแนวพระราชดำริต่าง ๆ ตลอดจนผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน
โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มแม่น้ำอาวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลำพูน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพพื้นที่บริเวณที่จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่อาวน้อย ตำบลนครเจดีย์ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๓๕ ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นสภาพป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกบุกรุกทำลายเป็นอย่างมาก ซึ่งจะยังผลกระทบต่อแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม จึงทรงมีพระราชดำริให้สำรวจวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่อาวน้อย เพื่อช่วยเหลือราษฎรในเขตพื้นที่จัดสรรของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และบริเวณใกล้เคียงได้มีน้ำใช้เพื่อการเพาะปลูกและอุปโภค – บริโภคได้ตลอดปี สำหรับราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการถูกน้ำท่วม อันเนื่องจาก มีที่ทำกินและที่อยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่ที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ให้พิจารณาจัดหาพื้นที่รองรับให้ใหม่ที่มีความเหมาะสมเพื่อไม่ให้ราษฎรผู้อพยพต้องเดือดร้อน นอกจากนี้ยังจะดำเนินการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาวในลักษณะโครงการร่วมโดยใช้แผนที่ฉบับเดียวกัน หน่วยงานที่ดำเนินการ ประกอบด้วย กรมป่าไม้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงาน

     ผลการดำเนินงานพบว่า สามารถจัดพื้นที่ทำกินและอยู่อาศัยเกินจากเป้าหมายเดิมให้กับราษฎร และได้ มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) พร้อมทั้งดำเนินการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่เกษตรกรรม และการจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำเพื่อให้มีน้ำใช้สำหรับการเกษตรและอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ ยังพัฒนาระบบคมนาคมและสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น จัดทำถนนลาดยาง ถนนลูกรัง ถนนคอนกรีต มีการเดินไฟฟ้าเพื่อให้มีแสงสว่างพร้อมทั้งเดินสายโทรศัพท์ นอกไปจากนี้ มีการพัฒนาอาชีพทั้งในและนอกการเกษตร เพื่อยกระดับรายได้ของราษฎรให้มากขึ้น ผลคือ ทุกหมู่บ้าน มีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตผ่านเกณฑ์ จปฐ. มีราษฎรบางกลุ่ม ที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการจัดการลุ่มน้ำ เพราะมีการประชาสัมพันธ์และการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมา เช่น ในระดับผู้นำหมู่บ้าน กลุ่มสตรีแม่บ้าน กลุ่มผู้ใช้น้ำ กลุ่มอาสาปลูกป่า กลุ่มอาสาป้องกันไฟป่า

 

การเกษตร
สิ่งแวดล้อม
การสาธารณสุข
การส่งเสริมอาชีพ
การพัฒนาแหล่งน้ำ
การคมนาคมสื่อสาร
สวัสดิการสังคม
ตัวอย่างโครงการ

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ห้ามนำข้อมูลของเวปไซท์นี้ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร