โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส

     ในพื้นที่ดำเนินการคือหมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน ๑๑ หมู่บ้าน ในเขตตำบลกะลุวอและตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส หมู่บ้านรอบศูนย์สาขา ๓ แห่ง คือ บ้านปิแนมูดอ หมู่บ้านปศุสัตว์-เกษตรมูโนะ และบ้านโคกอิฐ-โคกใน ยูโย ในเขตอำเภอเจาะไอร้อง และอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จำนวนรวม ๗ หมู่บ้าน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขตจังหวัดนราธิวาส ๑๖ แห่ง และจังหวัดปัตตานี ๑ แห่ง รวมเป็น ๑๗ แห่ง และพื้นที่เป้าหมายโครงการปรับปรุงภาวะโภชนาการเด็กอายุ ๐-๖๐ เดือน ในเขต ๑๓ อำเภอ จังหวัดนราธิวาส


     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการโดยมีหน่วยงานรับผิดชอบคือ กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนี้

๑.โครงการแกล้งดิน
 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้ทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัดจนพืชไม่สามารถขึ้นได้ และให้ศึกษาหาวิธีปรับปรุงดินให้ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ และนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้แก่ราษฎรในเขตจังหวัดนราธิวาส อีกทั้งควรศึกษาต่อไปอีกเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดิน (พระราชดำริเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๒๗, ๑ ตุลาคม ๒๕๓๐, ๗ ตุลาคม ๒๕๓๓, ๕ ตุลาคม ๒๕๓๕ และ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๓๖)

 

๒. การศึกษาคุณสมบัติของน้ำในพื้นที่พรุ
 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้ตรวจสอบปริมาณและคุณภาพของน้ำที่ไหลออกจากคลองโต๊ะแดงลงคลองมูโนะว่ามีปริมาณเพียงพอใช้งาน มีคุณภาพดีหรือไม่ (พระราชดำริเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๕)- ให้เก็บตัวอย่างในแม่น้ำบางนราทุกจุดเพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำ (พระราชดำริเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๒ ผ่านสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ) - ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เก็บน้ำและตรวจสอบคุณภาพน้ำบริเวณบ้านคลอแระ ตำบลบาเระใต้ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส (พระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๒)

 

๓.การปลูกพืชในพื้นที่พรุดินเปรี้ยว
 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้ส่วนราชการต่าง ๆ หาวิธีใช้ประโยชน์จากพื้นที่พรุร่วมกัน (พระราชดำริเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๓๕)

 

๔.การทดสอบการปรับปรุงดินและการปลูกพืช
 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริเกี่ยวกับงานปรับปรุงดินว่าการแก้ไขทดลองดินเปรี้ยวโดยใช้น้ำชะล้างความเป็นกรดจากดินที่ได้ผล แสดงว่าน้ำจืดสามารถช่วยปรับปรุงดินให้มีคุณภาพดีขึ้นจนใช้ปลูกข้าวได้ สมควรนำไปขยายผลแนะนำเกษตรกรหรือทำการปรับปรุงแก้ไขดินเปรี้ยวในที่ซึ่งมีน้ำจืดในพื้นที่ใกล้เคียงหรือในเขตจังหวัดต่าง ๆ ต่อไป (พระราชดำริเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๓๖)

 

๕.งานปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดพื้นที่บ้านโคกกระท่อม
 

มีพระราชดำริให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยว ซึ่งมีลักษณะน้ำชลประทานดีในลักษณะเดียวกับบ้านโคกอิฐ-โคกใน (พระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๓๙)

 

๖. โรงงานต้นแบบการผลิตเมทิลเอสเตอร์
 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้คณะผู้ดำเนินโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขนาดเล็กฯ ไปดำเนินการจัดสร้างโรงงานสกัดและแปรรูปน้ำมันปาล์มขนาดเล็กขึ้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เพื่อนำผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้ทำการปลูกทดลองไว้จำนวน ๘ ไร่ มาทำการสกัดเป็นน้ำมันปาล์มดิบและให้ทำการแปรรูปต่อเนื่องไปจนถึงขั้นบริโภคครบวงจร (พระราชดำริเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๓๑)

 

๗.การปรับปรุงภาวะโภชนาการของเด็กอายุ ๐-๖๐ เดือน
 

ให้ดำเนินการปรับปรุงภาวะโภชนาการของเด็กอายุ ๐-๖๐ เดือน จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีปัญหาโภชนาการค่อนข้างสูง และแตกต่างจากที่อื่นในเรื่องการยอมรับการเปลี่ยนแปลงบริโภคนิสัย (พระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อธันวาคม ๒๕๓๑, ๒๑ กันยายน ๒๕๓๖)

 

๘.ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
 

เด็กจำนวนมากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับวัย ได้มีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพื่อรองรับเด็กอายุ ๒-๕ ปี เข้าอบรมดูแลให้มีพัฒนาการอย่างถูกต้องเหมาะสม (พระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๓๓)

 

๙. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ
  จังหวัดนนทบุรี มีพันธุ์ไม้เก่า ๆ อยู่มาก เช่น ทุเรียน บางพันธุ์อาจมีลักษณะดี แต่สวนเหล่านี้มีการเปลี่ยนสภาพไป ซึ่งพันธุ์ไม้เหล่านี้อาจจะหมดไป จึงควรสำรวจทั้งพืชเศรษฐกิจและไม่ใช่พืชเศรษฐกิจ รวมทั้งพืชพรรณไม้ตามเกาะด้วย พร้อมทั้งสร้างจิตสำนึกเด็กและเยาวชนให้เห็นความงดงามของพืชพรรณและผลเสียที่จะตามมาหากไม่มีการอนุรักษ์ (พระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖)

     ผลการดำเนินงาน นับแต่ปี ๒๕๒๖ เป็นต้นมา มีงานวิจัยที่ดำเนินการแล้ว ๑๙๔ เรื่อง งานวิจัยสำคัญ เช่น งานวิจัยด้านปรับปรุงบำรุงดินเพื่อการเพาะปลูกแบบต่างๆ เช่น เพื่อการปลูกข้าว ปลูกพืชไร่ ปลูกผักไม้ผล หรือปาล์มน้ำมัน, งานวิจัยด้านประมง มีการทดลองวิจัยเรื่องการเลี้ยงปลาในนาข้าวในที่ดินเปรี้ยว, งานวิจัยด้านป่าไม้ ศึกษาการตัดสางขยายระยะที่มีผลต่ออัตราการเจริญเติบโตของไม้เสม็ด และศึกษาการเจริญเติบโตของไม้เสม็ดขาวที่ปลูกในพื้นที่ป่าพรุเสื่อมโทรม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการขยายผลโดยนำผลงานศึกษาวิจัยที่ประสบผลสำเร็จไปเป็นแบบอย่างการพัฒนาและขยายผลไปสู่ราษฎร เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการเพาะปลูก ซึ่งมีการไถเตรียมพื้นที่และจัดรูปแปลงนาในพื้นที่ต่างๆ มีการส่งเสริมการปลูกข้าว และการทำเกษตรแบบผสมผสาน พัฒนาและปรับปรุงการปลูกเลี้ยงหม่อนไหม พัฒนาการปลูกสละเนินวงและระกำหวาน ฯลฯ


     สำหรับในปี ๒๕๔๗ สำนักงาน กปร. ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ร่วมกันกำหนดแนวทางในการขยายผลการดำเนินงานของศูนย์ฯ โดยการคัดเลือกผลงานวิจัยที่ประสบผลสำเร็จแล้วในศูนย์ฯ มาจัดทำเป็นเอกสารคู่มือประกอบการขยายผลไปสู่พื้นที่เป้าหมาย เช่น การปรับปรุงดินเปรี้ยวเพื่อปลูกข้าว-ปลูกพืช-ปลูกผัก และปลูกไม้ผล, การปรับปรุงดินเปรี้ยวเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน, การเพาะเห็ด, การปลูกผักในที่ดินพรุ, การเลี้ยงสัตว์ปีก ฯลฯ


     นอกจากนี้ ยังมีโครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเน้นการเฝ้าระวังภาวะโภชนาการ พร้อมทั้งมอบนมผงพระราชทาน เพื่อเป็นอาหารเสริมสำหรับเด็กได้ดื่มในช่วงเช้า ส่วนการปรับปรุงภาวะโภชนาการ มีการติดตามเยี่ยมบ้านเด็กที่มีอาการขาดสารอาหาร การให้โภชนาการศึกษาแก่หญิงมีครรภ์ ฯลฯ


     ด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช มีการอนุรักษ์พันธุ์พืชหลายชนิด อาทิ หวาย บัว หม้อข้าวหม้อแกงลิง กล้วยไม้พื้นเมือง ทั้ง ๗ ชนิด (กล้วยไม้ม้าวิ่ง กล้วยไม้เข็ม กล้วยไม้สกุลสิงโต ยี่โถปีนัง กล้วยไม้ดิน หัวข้าวต้ม และว่านหางจระเข้) พันธุ์ดาหลา รวมถึงการจัดกิจกรรมสวนพฤกษศาสตร์ในโรงเรียน เพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชน

 

 

 

 

การเกษตร
สิ่งแวดล้อม
การสาธารณสุข
การส่งเสริมอาชีพ
การพัฒนาแหล่งน้ำ
การคมนาคมสื่อสาร
สวัสดิการสังคม
ตัวอย่างโครงการ

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ห้ามนำข้อมูลของเวปไซท์นี้ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร