โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดกาฬสินธุ์

     เมื่อปี ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้ก่อสร้างขยายระบบส่งน้ำของอ่างเก็บน้ำลำพะยัง พร้อมทั้งพิจารณาขุดสระน้ำประจำไร่นาตามแนวทฤษฎีใหม่ และให้พิจารณาผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ ซึ่งอยู่ทางฟากจังหวัดมุกดาหารมาเติมให้แก่อ่างเก็บน้ำลำพะยังเพื่อขยายพื้นที่รับน้ำชลประทานได้มากขึ้น


     ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม สรุปความว่า ให้รีบดำเนินการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่มายังพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำลำพะยัง และให้พิจารณาดูว่าพื้นที่ที่จะส่งน้ำออกจากอุโมงค์ว่า มีพื้นที่ว่างหรือไม่ ให้ดำเนินการปลูกป่าทำเป็นอุทยานเล็กๆ เพื่อทดแทนผลกระทบที่จะเกิดกับป่าไม้ เพราะหากไม่ดำเนินการช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่นั้น ราษฎรก็จะบุกรุกป่าและทำลายพื้นที่ลุ่มน้ำ ๑ เอ จนหมด และน้ำที่ออกมาก็ให้พิจารณาว่าจะนำไปช่วยพื้นที่ลุ่มน้ำ ๑ เอ ในการบำรุงรักษาป่าให้เกิดความชุ่มชื้นได้มากเพียงใด ตัวอย่างเช่น โครงการลำตะคองพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติยังทำได้เพราะทำแล้วได้ประโยชน์มาก


     สำหรับอ่างเก็บน้ำลำพะยัง ก็ให้พิจารณายกระดับการเก็บกักน้ำจากเดิม ๓.๕ ล้านลูกบาศก์เมตร ให้สามารถเก็บกักน้ำได้มากขึ้นถึง ๔ ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ เพื่อจะได้มีน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรมากขึ้น


     ผลการดำเนินงานในโครงการ ได้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน และระบบส่งน้ำด้วยท่อสายใหญ่และสายซอย รวมทั้งก่อสร้างระดับทางระบายน้ำล้น พร้อมทั้งออกแบบอุโมงค์ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ จังหวัดมุกดาหาร มายังพื้นที่รับประโยชน์ของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยอุโมงค์ผันน้ำดังกล่าวจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ จะมีพื้นที่ก่อสร้างลอดผ่านพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงหมู ในเขตติดต่อทั้ง ๒ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดมุกดาหารและจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นระยะทาง ๖.๕ กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในเขตชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ๑ เอ ประมาณ ๒๔๐ เมตร คิดเป็นพื้นที่ ๒๐ ไร่ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๕ อนุมัติให้ยกเว้นมติคณะรัฐมนตรี เรื่องมาตรการใช้ที่ดินในเขตลุ่มน้ำชั้น ๑ เอ ไม่ให้มีการใช้พื้นที่ในทุกกรณี เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๓๑ โดยผ่อนผันให้ กรมชลประทาน เข้าใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น ๑ เอ ได้เป็นกรณีพิเศษ จากนั้น กรมชลประทานได้ทำสัญญาจัดจ้างแล้วเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๕ โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง ๓ ปี งบประมาณสำหรับการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำ ๘๔ ล้านบาท และในเดือนเมษายน ๒๕๔๖ ได้เริ่มดำเนินการเตรียมถนนเข้าจุดที่จะก่อสร้างอุโมงค์ทางฝั่งกาฬสินธุ์ และมุกดาหาร รวมระยะทาง ๙ กิโลเมตร โดยได้ก่อสร้างถนนตามแนวท่อส่งน้ำด้านท้ายอุโมงค์ผันน้ำฝั่งจังหวัดกาฬสินธุ์ สำหรับใช้เป็นเส้นทางลำเลียงเครื่องมือ เครื่องจักร พร้อมทั้งดำเนินการขุดเจาะระเบิดหินบริเวณช่วงท้ายอุโมงค์ผันน้ำเป็นระยะทาง ๘๐ เมตร เพื่อก่อสร้างอุโมงค์สำหรับวางท่อผันน้ำ และดำเนินการก่อสร้างถนน และการขุดเจาะอุโมงค์ผันน้ำฝั่งจังหวัดมุกดาหาร

 

การเกษตร
สิ่งแวดล้อม
การสาธารณสุข
การส่งเสริมอาชีพ
การพัฒนาแหล่งน้ำ
การคมนาคมสื่อสาร
สวัสดิการสังคม
ตัวอย่างโครงการ

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ห้ามนำข้อมูลของเวปไซท์นี้ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร