การดำเนินงานสนองพระราชดำริ

     วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๖ ในช่วงระหว่างเวลาที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ วัดเขียนบางแก้ว นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เลขาธิการ กปร. นายสหัส บุญญาวิวัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการพระราชวังฝ่ายกิจกรรมพิเศษ นายประจักษ์ สุวรรณภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง นายเกียรติศักดิ์ สุขวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านจัดสรรน้ำ กรมชลประทาน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง กำนัน และสมาชิก อบต.ในพื้นที่ ได้ประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในเบื้องต้น และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงในรายละเอียดต่อไป


     วันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ สำนักงาน กปร. ร่วมกับ กรมชลประทาน จังหวัดพัทลุง กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ตลอดจนราษฎรในพื้นที่ ได้ร่วมประชุมปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับสภาพปัญหา ความต้องการ และพิจารณาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมทั้งตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่พบว่า ราษฎรที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าวรวมจำนวน ๘๙๕ ครัวเรือน ๗ หมู่บ้าน ในเขตพื้นที่ ๓ ตำบล อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง


     สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบสลับกับเนิน เนื้อที่รวม ๑๖,๕๑๑ ไร่ ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา พันธุ์ข้าวที่ปลูกคือ พันธุ์เล็บนก และพันธุ์บางแก้วซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของพื้นที่ ส่วนอาชีพรองลงมาได้แก่ การทำสวนผลไม้ ทำไร่ การทำสวนยาง ประมง เลี้ยงสัตว์และประกอบอาชีพรับจ้าง ส่วนใหญ่มีฐานะค่อนข้างยากจน ถือครองที่ดินทำกินเฉลี่ยครัวเรือนละประมาณ ๕-๑๐ ไร่ บางรายต้องเช่าที่ดินทำกิน เอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินส่วนใหญ่เป็นโฉนด และน.ส. ๓ ก. น้ำที่ใช้เพื่อการเกษตรส่วนใหญ่ได้มาจากน้ำฝน และจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่คลองบางแก้วและคลองปากพะเนียด ซึ่งมีต้นน้ำมาจากเทือกเขาบรรทัด ไหลรวมกันลงคลองบางแก้ว และคลองปากพะเนียดสู่ทะเลสาบสงขลาบริเวณบ้านอาพัด และบ้านปากพะเนียด ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีแหล่งน้ำผิวดิน ได้แก่ ห้วย หนอง คลอง บึงต่าง ๆ และแหล่งน้ำใต้ดิน โดยมีการขุดเจาะบ่อบาดาลและบ่อน้ำตื้นมาใช้ประโยชน์ในการอุปโภค – บริโภคเกือบทุกหมู่บ้าน


จากการสอบถามราษฎร กำนัน สมาชิก อบต. ตลอดจนหน่วยงานในพื้นที่พบว่าปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรประกอบด้วย

๑. ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ เดิมบริเวณดังกล่าวได้ประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำอยู่แล้ว โดยน้ำจะท่วมประมาณ ๔-๕ วัน และปริมาณน้ำก็จะลดลงโดยไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรของราษฎร แต่ในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมาพบว่า น้ำจะท่วมขังนานขึ้นประมาณ ๑-๒ เดือน โดยมีระดับความสูงวัดจากถนนขึ้นมาประมาณ ๐.๓๐-๐.๔๐ ม. และหากวัดจากที่นาจะมีความสูงประมาณ ๑.๕-๒.๐ ม. ทำให้บ้านเรือนและผลผลิตทางการเกษตรได้แก่นาข้าว พืชสวน พืชไร่ ได้รับความเสียหาย จำนวน ๑๘,๐๐๐ ไร่ (เฉพาะหมู่บ้านเป้าหมาย ๗ หมู่บ้าน ประมาณ ๕,๐๐๐ ไร่) นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงของราษฎรด้วย จากการสอบถามพบว่าสาเหตุของปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจาก ทรบ. โคกขาม กั้นคลองปากพะเนียด และถนนกั้นขวางทางน้ำไหลก่อนลงทะเลสาบสงขลาทำให้น้ำไม่สามารถระบายได้เต็มที่
๒. ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ทำให้ราษฎรไม่สามารถประกอบอาชีพทางการเกษตรได้อย่างเต็มที่ ข้าวปลูกได้เฉพาะนาปีเท่านั้น ทำให้เกษตรกรหันไปทำการเกษตรประเภทอื่น เช่น การปลูกยางพารา ซึ่งมีความต้องการน้ำน้อย เป็นต้น
๓. ปัญหาน้ำเค็มจากทะเลสาบสงขลารุกล้ำเข้ามายังคลองบางแก้ว และคลองปากพะเนียด ในช่วงฤดูแล้ง ระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร ส่งผลให้ราษฎรที่ประกอบอาชีพทางการเกษตรที่ต้องใช้น้ำจืดได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

๔.

 

ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค - บริโภค ปัจจุบันราษฎรในพื้นที่ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากบ่อน้ำตื้น บ่อบาดาล และบางหมู่บ้านมีน้ำประปาใช้ แต่ประสบปัญหาเนื่องจากคุณภาพของน้ำไม่ดี น้ำขุ่น เป็นคราบ บางแห่งเกิดสนิม ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
๕. ปัญหาดินขาดความอุดมสมบูรณ์ สภาพดินเป็นกรด เนื่องจากการใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยขาดการบำรุงรักษา
๖. ปัญหาความยากจนและการว่างงาน เนื่องจากราษฎรในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร เมื่อประสบกับปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเค็ม ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้อย่างเต็มที่ จึงประสบปัญหาความยากจนมาโดยตลอด ผลจากการสำรวจ จปฐ. พบว่า จากประชากรรวม ๘๙๕ ครัวเรือน มีรายได้ต่ำกว่า ๒๐,๐๐๐ บาท/คน/ปี จำนวน ๕๘๐ ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ ๖๔.๘๐


ความต้องการของราษฎรในพื้นที่

๑. ปรับปรุง ทรบ.โคกขามบริเวณคลองปากพะเนียดให้สามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
๒. ขุดลอกคลองปากพะเนียด และคลองบางแก้ว ตั้งแต่บริเวณด้านท้ายน้ำของทรบ. โคกขาม จนถึงทะเลสาบสงขลาเพื่อให้การระบายน้ำดีขึ้น
๓. บริเวณถนนที่กีดขวางช่องทางน้ำไหล ให้จัดทำท่อลอดเพิ่มเติมเพื่อให้น้ำระบายได้รวดเร็วขึ้น และบริเวณใดที่มีท่อลอดแบบทรงกลม ขอให้เปลี่ยนเป็นท่อแบบสี่เหลี่ยม
๔. ก่อสร้าง ปตร.คลองบางแก้ว และปตร. คลองปากพะเนียด เพื่อป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็ม
๕. ขอให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าเชียดก่อสร้างคลองไส้ไก่ U-SHAPE ไปยังที่ดินทำกินของราษฎร
๖. ก่อสร้างฝายในคลองบางแก้ว (บริเวณบ้านหนองเมา) ช่วงระหว่างหมู่ที่บ้านทุ่งแซะ หมู่ที่ ๕ และบ้านพรุ หมู่ที่ ๗
๗. มีระบบประปาในหมู่บ้าน
๘. ต้องการอาชีพทางการเกษตรเพิ่มเติม ได้แก่ ประมง ปศุสัตว์ ไร่นาสวนผสม ฯลฯ



แนวทางในการแก้ไขปัญหา
จากการประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน ทำให้ได้แนวทางในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เป็นส่วน ๆ ดังนี้

การแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง – น้ำท่วม - น้ำเค็ม
** การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร
• กรมชลประทานมีแผนการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้าง อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดความจุ ๓๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จสามารถเป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่จะนำน้ำมาเติมให้แก่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าเชียดให้สามารถส่งน้ำมาช่วยเหลือราษฎรในบริเวณดังกล่าวได้ครอบคลุมทุกพื้นท
• หากดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้างแล้วเสร็จ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าเชียด กรมชลประทาน จะดำเนินการก่อสร้างระบบส่งน้ำไปยังพื้นที่ทำกินของราษฎรที่ประสบปัญหาเดือดร้อน เนื่องจากมีปริมาณน้ำต้นทุนที่จะสนับสนุนพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างเพียงพอ
• พิจารณาจัดหาที่ดินสาธารณประโยชน์ทำการขุดสระเก็บน้ำ และเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนที่มีปริมาณน้ำจำนวนมากไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง

** การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม
• ให้กรมชลประทานพิจารณาปรับปรุง ทรบ. โคกขาม เดิมมีขนาด ๓ ช่องระบายท่อสี่เหลี่ยมขนาด ๒.๐๐ x ๒.๐๐ เมตร จำนวน ๑ แห่ง ซึ่งกั้นขวางทางน้ำให้สามารถระบายน้ำได้อย่างเต็มที่ และจะช่วยให้พื้นที่รับประโยชน์ของ ทรบ. ดังกล่าวลดปัญหาน้ำท่วมได้
• ให้กรมชลประทานพิจารณาขุดลอกคลองบางแก้วและคลองปากพะเนียด ตั้งแต่บริเวณด้านท้ายน้ำของ ทรบ. โคกขาม จนถึงทะเลสาบสงขลา ระยะทางประมาณ ๔ กม.เพื่อให้การระบายน้ำดีขึ้น ทั้งนี้ ขอให้กำนัน อบต.และผู้นำชุมชน ได้ไปชี้แจงกับราษฎรเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน หากมีการดำเนินการก่อสร้าง
• พิจารณาความเหมาะสมในการจัดทำท่อลอดเพิ่มเติม บริเวณถนนที่กีดขวางทางน้ำไหลลงทะเลสาบสงขลา จำนวน ๔ แห่ง เพื่อให้น้ำระบายได้รวดเร็วขึ้น
• เมื่อกรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้างแล้วเสร็จ จะสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้งและเป็นการบรรเทาอุทกภัยในฤดูฝน ในเขตพื้นที่ ๒ อำเภอ ได้แก่ อำเภอตะโหมด และอำเภอเขาชัยสน
** การแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำคลองบางแก้วและคลองปากพะเนียด
• จัดทำทำนบชั่วคราวบริเวณคลองบางแก้ว และคลองปากพะเนียด เพื่อกั้นน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามา

• เนื่องจากการก่อสร้าง ปตร. คลองบางแก้วและ ปตร. คลองปากพะเนียด มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ดังนั้น จึงต้องทำการศึกษาความเหมาะสม ผลกระทบและความเป็นไปได้โครงการอย่างรอบคอบ

 

     ทั้งนี้ ในส่วนของการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำคลองบางแก้ว และคลองปากพะเนียดนั้น กรมชลประทานได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเหมาะสม ตลอดจนหาแนวทางช่วยเหลือราษฎรดังกล่าวโดยเร่งด่วนแล้ว

 

การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้แก่ราษฎร

     เนื่องจากปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเค็ม ดังกล่าว ส่งผลให้ราษฎรไม่สามารถประกอบอาชีพได้อย่างเต็มที่ ทำให้ประสบปัญหาความยากจนและเกิดการว่างงาน ดังนั้นจึงเห็นสมควรส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎรโดยเร่งด่วนดังนี้

 

• ด้านประมง ได้แก่
- การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในคอกบริเวณทะเลสาบสงขลา
- การเลี้ยงปลาในบ่อดิน

- ปล่อยสัตว์น้ำ จำพวก ปลา และกุ้งก้ามกรามในแหล่งน้ำธรรมชาติ

• ด้านปศุสัตว์ ได้แก่
- การเลี้ยงโคพันธุ์พื้นเมือง โดยสนับสนุนในลักษณะธนาคารโค- กระบือ

- การเลี้ยงเป็ดเทศ

• ด้านการเกษตร ได้แก่
- การส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์ดี
- ไร่นาสวนผสม
- การปรับปรุงบำรุงดิน





ี่


















 

การเกษตร
สิ่งแวดล้อม
การสาธารณสุข
การส่งเสริมอาชีพ
การพัฒนาแหล่งน้ำ
การคมนาคมสื่อสาร
สวัสดิการสังคม
ตัวอย่างโครงการ

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ห้ามนำข้อมูลของเวปไซท์นี้ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร