รายงานสรุปโครงการป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยในเขตจังหวัดเพชรบุรี พ.ศ. ๒๕๔๗

     จังหวัดเพชรบุรีตั้งอยู่ทางภาคกลางค่อนทางใต้ จัดอยู่ในกลุ่มจังหวัดภาคกลางกลุ่มตะวันตกอยู่ห่างกรุงเทพมหานครประมาณ ๑๒๐ กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ ๖,๒๒๕.๑๓๘ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๓,๘๙๐,๗๑๑ ไร่ แบ่งเป็น ๘ อำเภอ ๙๓ ตำบล ๖๘๔ หมู่บ้าน ๑ องค์การบริหารส่วนจังหวัด ๑๑ เทศบาล ๖๙ องค์การบริหาส่วนตำบล และ ๑๓ สภาตำบล ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดเป็นที่ราบสูง ทางทิศตะวันออกเป็นที่ราบลุ่มจรดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ส่วนทางด้านทิศตะวันตกเป็นที่ราบสูงและเทือกเขา

     แม่น้ำเพชรบุรี เป็นแม่น้ำสายหลักที่อยู่ในเขตจังหวัดเพชรบุรีตลอดทั้งสาย มีต้นกำเนิดจากแม่น้ำที่เทือกเขาตะนาวศรีทางทิศตะวันตกและลำน้ำสาขาต่าง ๆ ไหลผ่านอำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมืองเพชรบุรี และไหลลงสู่อ่าวไทยที่อำเภอบ้านแหลม มีความยาวทั้งสิ้น ๒๒๗ กิโลเมตร ลำน้ำมีความลาดชันมากในตอนบน ส่วนตอนล่างค่อนข้างราบ โดยมีพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งหมด ๕,๖๙๒ ตารางกิโลเมตร (ลุ่มน้ำแก่งกระจาน ๒,๒๑๐ ตร.กม. ลุ่มน้ำห้วยผาก ๗๘๐ ตร.กม. ลุ่มน้ำห้วยแม่ประจันต์ ๑,๐๕๐ ตร.กม. และพื้นที่ลุ่มน้ำท้ายเขื่อนเพชร ๑,๖๕๒ ตร.กม.) แม่น้ำบางกลอย ต้นน้ำอยู่ในเขตอำเภอหนองหญ้าปล้อง ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเพชรบุรีที่ตำบลสองพี่น้อง อำเภอแก่งกระจาน ความยาวของลำน้ำประมาณ ๖๐ กิโลเมตร ห้วยแม่ประจันต์ ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาในจังหวัดราชบุรี ไหลผ่านอำเภอหนองหญ้าปล้องมารวมกับแม่น้ำเพชรบุรี ที่บริเวณเหนือเขื่อนเพชรในตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง มีความยาวประมาณ ๒๖ กิโลเมตร ห้วยผาก เกิดจากภูอ่างแก้วและภูน้ำหยดในเขตอำเภอแก่งกระจาน ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเพชรบริเวณตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง มีความยาวประมาณ ๓๒ กิโลเมตร

     จังหวัดเพชรบุรีได้เกิดอุทกภัยอย่างรุนแรงเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๖ รวม ๒ ห้วงเวลา คือระหว่างวันที่ ๑๓–๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๖ และวันที่ ๒๒–๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๖ โดยมีสาเหตุมาจากฝนที่ตกหนักถึงหนักมาก โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ตอนบน–เหนือเขื่อนเพชร สรุปได้คือ

- วันที่ ๑๓–๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๖ (๕ วัน) ปริมาณฝนเหนือเขื่อนแก่งกระจาน ๒๗๔.๘ มม. ห้วยผาก ๒๓๕.๒ มม. ห้วยแม่ประจันต์ ๑๕๓.๐ มม. เขื่อนเพชร ๑๑๐.๘ มม. และอำเภอเมือง ๘๒.๙ มม. ส่งผลให้เกิดสภาพน้ำท่าไหลหลากล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ต่าง ๆ ตามแนวแม่น้ำในเขตอำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง และอำเภอบ้านแหลม โดยประเมินว่าปริมาณน้ำที่หลากมาถึงเขื่อนเพชรมาจากห้วยผากและห้วยสงสัย ร้อยละ ๗๔ แก่งกระจานร้อยละ ๑๔ และห้วยแม่ประจันต์ ร้อยละ ๑๒
- วันที่ ๒๒–๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๖ (๕ วัน) หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในอ่าวไทยตอนกลางทวีกำลังแรงเป็นพายุดีเปรสชั่น เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๖ และเคลื่อนตัวเข้าฝั่งบริเวณอำเภอกุยบุรี และกิ่งอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ เวลา ๑๖.๐๐ น.) ส่งผลให้ลุ่มน้ำเพชรบุรีและลุ่มน้ำปราณบุรีมีฝนตกหนักกระจัดกระจายทั่วทั้งลุ่มน้ำโดยมีปริมาณฝนเหนือเขื่อนแก่งกระจาน ๑๑๙.๑ มม. ห้วยผาก ๒๐๔.๖ มม. ห้วยแม่ประจันต์ ๒๙๕.๖ มม. เขื่อนเพชร ๑๖๔.๐ มม. และอำเภอเมือง ๑๐๕.๑ มม. ส่งผลให้เกิดสภาพน้ำป่าไหลหลากอย่างรวดเร็วลงสู่อ่างเก็บน้ำและลำน้ำธรรมชาติต่าง ๆ จนเกินความจุของลำน้ำที่จะรับได้ จนเกิดอุทกภัย มีสภาพน้ำไหลหลากล้นตลิ่งตลอดแนวลำน้ำที่เป็นที่ลุ่มต่ำเข้าสู่พื้นที่ต่าง ๆ ทั้งพื้นที่การเกษตรและชุมชน โดยประมาณว่าปริมาณน้ำหลากมาจากห้วยแม่ประจันต์ ร้อยละ ๓๗ ห้วยผาก และห้วยสงสัย ร้อยละ ๓๕ และแก่งกระจาน ร้อยละ ๒๘


     นอกจากปริมาณฝนที่ตกหนักแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอุทกภัยคือ มีสิ่งกีดขวางในลำน้ำ บางส่วนมีราษฎรบุกรุกทำให้แม่น้ำมีขนาดแคบลง บางแห่งถูกเปลี่ยนสภาพจากการดูดทราย รวมทั้งมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการเกิดอุทกภัย ได้แก่

๑. สภาพของแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งเป็นที่รองรับน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลมีสภาพตื้นเขิน
๒. คลองธรรมชาติสายต่าง ๆ ซึ่งเป็นทางระบายน้ำลงสู่ทะเลตามธรรมชาติมีขนาดเล็กและตื้นเขิน บางแห่งถูกบุกรุกอย่างถาวร หรือถูกกลบจนหมดสภาพ
๓. ท่อลอดถนนบริเวณถนนเพชรเกษมบางแห่งมีขนาดเล็ก ไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างสะดวกหรือมีสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำ
๔. ประตูระบายน้ำบริเวณคันกั้นน้ำเค็มของกรมชลประทานบางแห่งระบายน้ำไม่ทัน เนื่องจากหน้าและท้ายท่อเป็นพื้นที่แนวปะทะน้ำ เพราะที่ดินถูกปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์
๕. การก่อสร้างของหน่วยงานต่าง ๆ บางแห่งทำทางระบายน้ำเล็ก ทำให้ระบายน้ำไม่ทัน
๖. อิทธิพลการขึ้น-ลงของน้ำทะเล มีผลต่อการระบายน้ำบริเวณพื้นที่ตอนล่าง
ของจังหวัดเนื่องจากพื้นดินมีระดับความสูงใกล้เคียงกับระดับน้ำทะเล เวลาน้ำทะเลขึ้นจะหนุนให้น้ำตอนบนไหลสู่ทะเลได้ช้า

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๔๗ ณ วังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยพลตรี พยงค์ สุขมา ประจำสำนักพระราชวังพิเศษ ได้อันเชิญพระราชกระแสมาสรุปได้ดังนี้
“ ขณะนี้ย่างเขาฤดูฝนแล้ว พื้นที่ที่เกิดอุทกภัยอยู่เสมอควรเฝ้าระวังติดตามการบริหารและจัดการน้ำ รวมทั้งเตรียมรับสถานการณ์ไว้ให้พร้อม…… การแก้ไขปัญหาอุทกภัยบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ให้กรมชลประทานจัดทำแผนที่ทิศทางการไหลของน้ำ พร้อมแผนการปรับคลองส่งน้ำให้เป็นคลองระบายน้ำด้วย ซึ่งควรจะดำเนินการภายในเดือนมิถุนายน ๒๕๔๗ ”

     กรมชลประทาน ได้เตรียมแผนการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยระยะเร่งด่วน โดย คาดว่ามีปริมาณน้ำหลากเหนือเขื่อนเพชรในอัตรา ๙๐๓ ลบ.ม./วินาที โดยใช้รอบปีการเกิดซ้ำ ๑๐ ปี และไม่มีอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ และอ่างเก็บน้ำห้วยผาก ดังนี้

คลองส่งน้ำสายใหญ่ ๑
๑) จัดทำทางระบายน้ำล้น ที่ กม.๒+๒๐๐–๒+๓๐๐ (ฝั่งซ้าย) ระบายน้ำด้วยอัตรา ๕ – ๑๐ ลบ.ม./วินาที
๒) จัดทำทางระบายน้ำลันที่ กม.๔+๐๓๐ ด้วยอัตรา ๕–๑๐ ลบ.ม./วินาที ลงคลองห้วยยาง ลงคลองระบายน้ำ D๑
๓) ลดคันคลองฝั่งซ้ายระบายน้ำในคลองก่อนถึงท่อลอดถนนเพชรเกษมด้วยอัตรา ๓-๕ ลบ.ม./วินาที
๔) จัดทำทางระบายน้ำล้นที่ กม.๙+๐๐๐ (บริเวณวัดสายหนึ่ง) ด้วยอัตรา ๒–๕ ลบ.ม./วินาที ลงคลองระบายน้ำ D๑
คลองส่งน้ำสายใหญ่ ๒
๑) จัดทำทางระบายน้ำล้นที่ กม.๒+๕๐๐ ฝั่งขวา ด้วยอัตรา ๕–๑๐ ลบ.ม./วินาที ลงคลองระบายน้ำ D๓
๒) จัดทำทางระบายน้ำล้นที่ กม.๗+๘๐๐ ฝั่งขวา ด้วยอัตรา ๒–๕ ลบ.ม./วินาที ลงคลองระบายน้ำ D๓
คลองส่งน้ำสายใหญ่ ๓
๑) จัดทำทางระบายน้ำล้นที่ กม. ๒+๕๐๐ (ฝั่งขวา) บริเวณหน้าวัดท่าขาม อัตรา ๕ – ๑๐ ลบ.ม./วินาที ลงคลองระบายน้ำ D๙
๒) จัดทำทางระบายน้ำลันที่ กม. ๓+๙๐๐ ลงบ่อยืมคลองส่งน้ำ ๑ ขวา – สายใหญ่ ๓ อัตรา ๕ ลบ.ม./วินาที ลงคลองระบายน้ำ D๑๒ ลงคลองระบายน้ำ D๙
๓) จัดทำทางระบายน้ำล้นที่ กม. ๕+๐๐๐ (ฝั่งขวา) ด้วยอัตรา ๒๐ – ๒๕ ลบ.ม./วินาที ลงคลองระบายน้ำ D๑๒ ลงคลองระบายน้ำ D๙
๔) จัดทำทางระบายน้ำล้นที่ กม. ๗+๕๐๐ (ฝั่งขวา) ด้วยอัตรา ๑๕ ลบ.ม./วินาที ลงคลองระบายน้ำ D๙
คลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย
๑) จัดทำทางระบายน้ำลันที่ กม. ๙+๕๐๐ (ฝั่งซ้าย) ด้วยอัตรา ๗ – ๑๐ ลบ.ม./วินาที ลงคลองระบายน้ำ D ๓ ฝั่งซ้าย
๒) จัดทำทางระบายน้ำล้นที่ กม. ๒๓+๐๐๐ (ฝั่งซ้าย) ด้วยอัตรา ๗ – ๑๐ ลบ.ม./วินาที ลงคลองธรรมชาติปากง่าม ลงคลองบางจาก
คลองส่งน้ำสาย ๑ ซ้าย – สายใหญ่ ๓
จัดทำทางระบายน้ำล้นที่ กม. ๑+๕๕๐ , ๑+๙๐๐ และ ๒+๑๐๐ ลงคลองระบายน้ำ D ๑๘
ขุดลอกบ่อยืมคันกั้นน้ำเค็ม
ให้สามารถชักน้ำลงคลองระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อเชื่อมต่อกันภายในกลุ่มการระบายน้ำออกสู่ทะเลพร้อมกำจัดวัชพืชด้วย


     การเตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในปี ๒๕๔๗ กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ใน ปี ๒๕๔๗ ดังนี้

๑. ใช้อาคารระบายน้ำบนคันกั้นน้ำเค็ม เพื่อระบายน้ำออกสู่ทะเลลงประตูระบายน้ำของชลประทานจำนวน ๔๖ แห่ง และประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์ จำนวน ๑๐ แห่ง ( ก่อสร้างใหม่ในปีงบประมาณ ๒๕๔๗) โดยแบ่งพื้นที่การระบายน้ำเป็นกลุ่ม และขุดลอกบ่อยืมเชื่อมประตูระบายน้ำภายในกลุ่ม รวมความสามารถในการระบายน้ำทั้งสิ้น ๔๐๒.๔๔ ลบ.ม./วินาที
ประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์ ๑๐ แห่ง ได้แก่
- ปตร. ราชประชานุเคราะห์ ๔ คลองลัดสำพุด
- ปตร. ราชประชานุเคราะห์ ๕ คลองน้ำเชื่อม
- ปตร. ราชประชานุเคราะห์ ๖ หน้าอำเภอ
- ปตร. ราชประชานุเคราะห์ ๗ บางขุนไทร
- ปตร. ราชประชานุเคราะห์ ๘ คลอง D๒๖
- ปตร. ราชประชานุเคราะห์ ๙ คลอง D๒๓
- ปตร. ราชประชานุเคราะห์ ๑๐ คลอง D๑๘
- ปตร. ราชประชานุเคราะห์ ๑๑ คลองบางทะล
- ปตร. ราชประชานุเคราะห์ ๑๒ คอลง D๑๙
- ปตร. ราชประชานุเคราะห์ ๑๓ คลอง D๙ Flood Way ยาว ๘๐๐ ม.
๒. การระบายน้ำในพื้นที่ก่อนถึงประตูระบายน้ำ คันกั้นน้ำเค็มจะระบายน้ำโดยที่ในแม่น้ำเพชรบุรีสูงจนล้นตลิ่ง โดยลดระดับคันคลองชลประทานให้น้ำผ่านออกโดย
- ลดระดับคันคลองชลประทานเพื่อรองรับน้ำที่ล้นตลิ่งจากแม่น้ำเพชรบุรีไหลผ่านลงคลองระบายน้ำได้
- ใช้คลองชลประทานรับน้ำเหนือเขื่อนเพชรเพิ่มขึ้นจากความจุปกติผันน้ำทิ้งในจุดที่เหมาะสม
๓. ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ จากปลายแม่น้ำเพชรบุรีและคลองบางครกและจุดเหนือลำน้ำที่เหมาะสม เพื่อผลักดันน้ำในลำน้ำเพชรบุรีทั้งระบบออกทะเล
๔. กรณีระบายน้ำไม่สะดวก จัดเตรียมรถขุดชนิดบูมยาวสำรองไว้ในพื้นที่เพื่อขุดลอกและขุดเจาะ
๕. เคลื่อนย้ายติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ท่วมขังภายหลังน้ำลด
๖. จัดตั้ง “ ศูนย์เฉพาะกิจเครื่องจักรกล “ ที่อำเภอบ้านแหลม เพื่อบริหารจัดการประสานงานเครื่องจักรที่ติดตั้ง และสำรองไว้ตลอดจัดการประตูระบายน้ำคันกันน้ำเค็มตลอดสาย
๗. ขุดลอกแม่น้ำเพชรบุรีในส่วนที่เป็นเกาะแก่งหรือตื้นเขินตั้งแต่ท้ายเขื่อนเพชรจรดปากอ่าว
๘. จัดตั้งศูนย์บรรเทาอุทกภัย เพื่อประสานงานและบริหารจัดการระบายน้ำ ติดต่อประสานงานระหว่างส่วนราชการต่าง ๆ ตลอดจนติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด
๙. การพัฒนาระบบโทรมาตรเคลื่อนที่ขนาดเล็ก เพื่อตรวจวัดค่าปริมาณฝนและระดับน้ำ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำและแจ้งเตือนต่อประชาชนในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อความเสียหายได้ทันเหตุการณ์ โดยกรมชลประทานจะเคลื่อนย้ายอุปกรณ์มาไว้ที่บริเวณเหนือเขื่อนแก่งกระจาน ลุ่มน้ำเพชรบุรี และลุ่มน้ำปราณบุรี จำนวน ๘ ชุดวัด
๑๐. การจัดการประตูระบายน้ำคันกั้นน้ำเค็ม โดยการเตรียมความพร้อมก่อนถึงฤดูน้ำ หลาก (เช่น ตรวจสอบความพร้อมการใช้งานของเครื่องคว้านบานระบาย ลอกท่อระบายน้ำ กำหนดผู้รับผิดชอบให้ชัดเจน ติดตั้งวางข่ายสื่อสารติดตามผลการระบายน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและผลักดันน้ำ จัดตั้งศูนย์ประสานงานการระบายน้ำที่อำเภอบ้านแหลม ฯลฯ) และในขณะเกิดภาวะอุทกภัย (เช่น จัดเจ้าหน้าที่ประจำอาคาร ทำการระบายน้ำทุกแห่ง หน่วยงานและองค์กรส่วนท้องถิ่นสนับสนุนกำลังพลปฏิบัติงาน ติดตามผลการระบายน้ำ จัดเตรียมเครื่องจักรกลแก้ไขปัญหาตลอดเวลา ประสานจังหวัดเพื่อติดตามสถานการณ์ ฯลฯ)

 

แนวทางป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในระยะยาว
๑. การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อเพิ่มการเก็บ โดย
เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน ความจุ ๗๑๐ ล้าน ลบ.ม. โดยเพิ่มระดับเก็บกัก ๑.๐ – ๑.๕ ม. จะสามารถจุน้ำได้เพิ่มขึ้น ๔๕ – ๗๐ ล้าน ลบ.ม.
สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ ความจุ ๔๒.๒ ล้าน ลบ.ม.
สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยผาก ความจุ ๒๗.๕ ล้าน ลบ.ม.
๒. ติดตั้งระบบคาดการณ์เตือนภัย (ระบบโทรมาตร)
๓. จัดตั้งองค์กรขึ้นรับผิดชอบที่ชัดเจน มีการดำเนินงานแบบบูรณาการ โดยจัดทำแผนการป้องกันปัญหาอุทกภัยจังหวัดเพชรบุรี ร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ต่าง ๆ โดยใช้แผนเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติ
๔. ปรับปรุงแก้ไขสื่อสาธารณูปโภคที่กีดขวางทางน้ำ เช่น ถนน สะพาน ทางรถไฟ ฯลฯ โดยให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะองค์กรส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยการปลูกป่าบริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธาร โดยให้องค์กรส่วนท้องถิ่นและประชาชนมีส่วนร่วม


 

การเกษตร
สิ่งแวดล้อม
การสาธารณสุข
การส่งเสริมอาชีพ
การพัฒนาแหล่งน้ำ
การคมนาคมสื่อสาร
สวัสดิการสังคม
ตัวอย่างโครงการ

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ห้ามนำข้อมูลของเวปไซท์นี้ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร