โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำยางชุมฯ อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

     โครงการอ่างเก็บน้ำยางชุมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นเขื่อนดินขนาดสูง ๒๓.๐๐ เมตร ยาว ๑,๕๐๐ เมตร สันเขื่อนกว้าง ๘.๐๐ เมตร ความจุ ๓๒.๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรมีระบบส่งน้ำคลองสายใหญ่ฝั่งขวาและฝั่งซ้ายยาวรวมประมาณ ๒๔.๐๐ กิโลเมตร พื้นที่ชลประทาน ๑๕,๓๐๐ ไร่ โดยมีวัตถุประสงค์ เป็นแหล่งน้ำต้นทุน เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ทำการเพาะปลูก อุปโภค-บริโภค ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ช่วยบรรเทาอุทกภัยในบริเวณลุ่มน้ำกุยบุรี ช่วยผลักดันน้ำเค็มในคลองกุยบุรีในช่วงฤดูแล้ง และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริ กับ แม่ทัพภาคที่ ๑ และรองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยทรงขอให้สนับสนุนและร่วมมือกับกรมชลประทานในการพิจารณาเพิ่มปริมาณการเก็บกักของอ่างเก็บน้ำยางชุม เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ป่ากุยบุรี และส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ

     กรมชลประทานได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริ โดยศึกษาการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำยางชุม สรุปได้ว่า ควรเพิ่มระดับเก็บกักน้ำอีก ๒.๐๐ เมตร จากเดิมระดับ +๘๒.๘๐๐ เมตร รทก.เป็น +๘๔.๘๐๐ เมตร รทก. และเพิ่มความสูงเขื่อนอีก ๓.๐๐ เมตร (จากเดิมที่ระดับ +๘๖.๐๐๐ เมตร รทก.) ทำให้ความจุของน้ำเพิ่มขึ้นจากความจุ ๓๒.๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น ๔๑.๑๐ ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเพิ่มขึ้น ๙.๑๐ ล้านลูกบาศก์เมตร และมีพื้นที่น้ำท่วมบริเวณอ่างเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้นประมาณ ๑,๑๒๕.๐๐ ไร่ ส่งผลให้เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จสามารถสร้างความชุ่มชื้นในป่าโดยรอบ ทำให้ช้างป่ามีแหล่งน้ำ และสามารถเพิ่มพื้นที่การเกษตรได้อีก ๕,๐๐๐ ไร่ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๒.๗ รวมทั้งสามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับลุ่มน้ำกุยบุรีได้

     มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ เห็นชอบให้กรมชลประทานดำเนินการโครงการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำยางชุม ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง ๒ ปี(พ.ศ.๒๕๔๗-๒๕๔๘) โดยในปีงบประมาณ ๒๕๔๗ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน กปร. จำนวน ๙๓.๐๓๓ ล้านบาท และปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๔๘ ใช้งบประมาณจำนวน ๙๐.๐๖๙ ล้านบาท โดยมีผลการดำเนินงาน ณ วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๘ ดังนี้

๑. กิจกรรมปรับปรุงเขื่อนดิน งานเสริมทำนบดินเพื่อเพิ่มความสูงของตัวเขื่อนจากเดิมขึ้นอีก ๓.๐๐ เมตร เป็นความสูงของตัวเขื่อน ๒๖.๐๐ เมตร ความกว้างสันเขื่อน ๙.๐๐ เมตร ความยาว ๑,๕๔๐.๐๐ เมตร สามารถเพิ่มระดับการเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้นอีก ๒.๐๐ เมตร ทำให้ความจุอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นเป็น ๔๑.๑๐ ล้านลูกบาศก์เมตร (ความจุเพิ่มขึ้น ๙.๑๐ ล้านลูกบาศก์เมตร) ผลการดำเนินงานในปี พ.ศ.๒๕๔๗ แล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนดไว้ สำหรับในปี พ.ศ.๒๕๔๘ ดำเนินงานต่อเนื่องโดยดำเนินงานดินถมบดอัดแน่นตัวเขื่อน งานหินทิ้งด้านหน้าเขื่อน งานถนนบนสันเขื่อน
๒. กิจกรรมปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้น (Spillway) งานปรับปรุงอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กรูปตัวยู (U ) ชนิด Ogee Weir ความยาวสันฝาย ๑๗๕.๐๐ เมตร กว้าง ๓๙.๐๐ เมตร ระบายน้ำได้สูงสุด ๖๕๐ ม.๓ /วินาที ผลการดำเนินงานในปี ๒๕๔๗ แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้ ในปี ๒๕๔๘ ดำเนินงานเทคอนกรีตบริเวณพื้นแล้วเสร็จ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการสกัดผิวคอนกรีตบริเวณสันฝายพร้อมฝังเหล็ก (Anchor Bar) และดำเนินการผูกเหล็กตั้งแบบพร้อมเทคอนกรีต
๓. กิจกรรมปรับปรุงอาคารท่อระบายน้ำปากคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย (Canal Outlet) งานปรับปรุงโดยเพิ่มความยาวท่อด้านท้ายอาคารท่อระบายน้ำ ขนาด ๑- ๑.๕๐ เมตร ระบายน้ำ ๓.๕๐ ม.๓/วินาที ผลการดำเนินงานถึงปัจจุบันแล้วเสร็จ ๑๐๐%
 
๑. กิจกรรมก่อสร้างอาคารท่อระบายน้ำลงลำน้ำเดิม (River Outlet) งานก่อสร้างอาคารท่อระบายน้ำขึ้นใหม่ทางด้านฝั่งขวา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเป็นท่อ Steel Liner หุ้มด้วยคอนกรีต ขนาด ๑- ๑.๐๐ เมตร สามารถระบายน้ำได้ ๕.๘๐ ม.๓ /วินาที ผลการดำเนินงานถึงปัจจุบันแล้วเสร็จ ๑๐๐%
๒. กิจกรรมก่อสร้างส่วนอื่น ๆ ได้แก่
 
๑) งานจัดหาและติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อน เริ่มดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน ๒๕๔๘
๒) งานปรับปรุงถนนทดแทนถนนเดิมที่ถูกน้ำท่วม เป็นงานก่อสร้างถนนทดแทนถนนเดิมที่ถูกน้ำท่วมบริเวณตัวเขื่อนทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง


     สรุปผลงานทั้งโครงการฯ ตั้งแต่เริ่มต้น ถึงวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๘ ประมาณ ๙๑.๖๐ % คาดว่าจะดำเนินงานแล้วเสร็จภายในปี ๒๕๔๘

ผลประโยชน์ที่ได้รับ
     ผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการฯ เมื่อก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จสามารถสร้างความชุ่มชื้นในบริเวณผืนป่าโดยรอบ ทำให้ช้างป่ามีแหล่งน้ำ สำหรับพื้นที่ท้ายน้ำสามารถเพิ่มพื้นที่การเกษตรจาก ๑๕,๓๐๐ ไร่ เป็น ๒๐,๓๐๐ ไร่ หรือพื้นที่การเกษตรเพิ่มขึ้น ๕,๐๐๐ ไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๒.๖๘% ) โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนพัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่รับน้ำ
สำหรับระบบส่งน้ำในพื้นที่การเกษตรท้ายเขื่อนที่เพิ่มขึ้น ๕,๐๐๐ ไร่นั้น ปัจจุบันได้ดำเนินการสำรวจเพื่อวางแนวท่อและสระเก็บน้ำในพื้นที่รับประโยชน์เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการออกแบบรายละเอียดเพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป
สถานการณ์น้ำของโครงการฯ ในปัจจุบัน
     ปัจจุบัน ณ วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๔๘ ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูแล้งมีน้ำในอ่างเก็บน้ำ ๘.๐๘ ล้านลูกบาศก์เมตร โดยได้ปล่อยน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคด้านท้ายเขื่อน เฉลี่ยเดือนละ ๑ ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นในฤดูฝนที่จะเริ่มในเดือนสิงหาคมนี้ จะสามารถเก็บกักน้ำได้ และคาดว่าน้ำจะเต็มในระดับเก็บกักใหม่ปริมาณ ๔๑.๑๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ในเดือนกันยายน ๒๕๔๘
การติดตามผลการดำเนินงานขององคมนตรี
     เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๘ ฯพณฯ นายจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา องคมนตรี และ ฯพณฯ นายสวัสดิ์ วัฒนายากร องคมนตรี ได้ร่วมประชุมและติดตามความก้าวหน้าโครงการฯ พร้อมทั้งมีความเห็นในการดำเนินงานต่อไป สรุปได้ดังนี้
๑) ให้ฝ่ายทหารดำเนินการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเข้าใจกับราษฎรถึงประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการฯ
๒) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และส่วนราชการด้านการส่งเสริมการเกษตร ควรวางแผนพัฒนาและส่งเสริมการเกษตรโดยมีการปลูกพืชที่เหมาะสมเพื่อการใช้ประโยชน์จากปริมาณน้ำที่สามารถเก็บกักเพิ่มขึ้นอย่างคุ้มค่า

 

การเกษตร
สิ่งแวดล้อม
การสาธารณสุข
การส่งเสริมอาชีพ
การพัฒนาแหล่งน้ำ
การคมนาคมสื่อสาร
สวัสดิการสังคม
ตัวอย่างโครงการ

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ห้ามนำข้อมูลของเวปไซท์นี้ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร