พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบโรงเรียนและการศึกษานอกระบบโรงเรียน ซึ่งในการพัฒนาชนบท พระองค์จะทรงเน้นในเรื่องการส่งเสริมความรู้ให้แก่ราษฎร เพื่อให้มีความรู้ในการทำมาหากินได้

สำหรับการศึกษาของเยาวชน ทรงตระหนักว่า การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาประเทศชาติ นอกจากการรับโรงเรียนไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์แล้ว ยังทรงจัดตั้งโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารหลายแห่ง รวมถึงการพระราชทานทุนการศึกษาสำหรับเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ทั้งระดับมัธยมและอุดมศึกษา และเมื่อนิสิตนักศึกษาเหล่านี้ได้ร่ำเรียนสำเร็จลง พระองค์ยังได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณแก่บัณฑิตที่ได้ร่ำเรียนด้วยความวิริยะอุตสาหะ ด้วยการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตร และพระบรมราโชวาทเพื่อชี้แนะแนวทางการปฏิบัติงานและดำเนินชีวิตในสังคมแก่บัณฑิตทุกมหาวิทยาลัย

 

กองทุนและทุนการศึกษาพระราชทานในปัจจุบัน มีอยู่ ๔ ทุนด้วยกัน ได้แก่

- กองทุนนวฤกษ์ ช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้มีโอกาสศึกษาในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา
- ทุนเล่าเรียนหลวง พระราชทานให้แก่นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย ที่เรียนดี เพื่อไปศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ
- ทุนภูมิพล พระราชทานแก่นิสิต นักศึกษา ในมหาวิทยาลัยในประเทศ ที่เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์
- ทุนการศึกษามูลนิธิอานันทมหิดล พระราชทานแก่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิตในประเทศไทย ที่มีผลการเรียนดีและมีคุณธรรมสูง ได้ศึกษาต่อจนถึงขั้นสูงสุดยังสถาบันการศึกษาที่ดีที่สุดในสาขานั้นๆ ในต่างประเทศ เพื่อนำความรู้กลับมาทำคุณประโยชน์ในการพัฒนาบ้านเมืองให้ก้าวหน้าต่อไป เริ่มแรกพระราชทานทุนแก่ผู้สำเร็จการศึกษาทางด้านแพทยศาสตร์ ก่อนจะขยายเป็นสาขาต่างๆ รวม ๘ สาขาในปัจจุบัน ได้แก่ สาขาแพทยศาสตร์,วิทยาศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์, เกษตรศาสตร์, ธรรมศาสตร์ (สำหรับผู้สำเร็จปริญญาเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), อักษรศาสตร์, ทันตแพทยศาสตร์ และสัตวแพทยศาสตร์

 

นอกจากนี้ ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการก่อสร้างโรงเรียนตามวัดในชนบท เพื่อสงเคราะห์แก่เด็กยากจนและเด็กกำพร้า ให้มีสถานที่ศึกษาเล่าเรียน โดยอาราธนาพระภิกษุเป็นครูผู้สอนในวิชาสามัญต่างๆ และอบรมศีลธรรมแก่เด็กนักเรียน ส่วนโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษา พระองค์ได้พระราชพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จัดสร้างขึ้นในพื้นที่หลายจังหวัด อาทิ จังหวัดนครพนม จังหวัดสกลนคร จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนสถานศึกษาของเยาวชน และยังเป็นการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารที่ไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่นั้นๆ กับราษฎรเจ้าของพื้นที่ด้วย ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงเรียนเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า โรงเรียนร่มเกล้า

โครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เป็นส่วนหนึ่งของการสนองแนวนโยบายแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่จะขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน อีกทั้งยังแก้ปัญหาการขาดแคลนครู และความไม่เสมอภาคทางการศึกษาอีกด้วย ซึ่งคุณขวัญแก้ว วัชโรทัย ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ได้รับแรงบันดาลใจจากพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระประสงค์ให้เด็กไทยมีคุณภาพ มีโอกาสได้รับการศึกษาและได้เรียนรู้อย่างเท่าเทียมกัน นอกจากความรู้ในวิชาสามัญแล้ว เด็กก็ควรจะมีความรู้ในเชิงวิชาชีพด้วย เพื่อที่เมื่อศึกษาจบแล้วจะได้ออกมามีงานทำ สามารถยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเองได้ ทำให้โรงเรียนวังไกลกังวล ซึ่งเป็นโรงเรียนราษฎร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นเด็กเล็ก จนถึงระดับปริญญาตรี โดยนักเรียนที่เรียนจบสายสามัญ สามารถต่อสายวิชาชีพจากวิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล และสถาบันราชมงคลวิทยาเขตวังไกลกังวล ซึ่งตั้งอยู่ในโรงเรียนวังไกลกังวลได้

จากการบริหารจัดการดังกล่าว ทำให้โรงเรียนวังไกลกังวล ได้รับการยกย่องให้เป็นโรงเรียนตัวอย่าง และจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างโรงเรียนลักษณะเดียวกันในทุกจังหวัดที่มีพระราชนิเวศน์ จึงเกิดมีโรงเรียนพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ โรงเรียนพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ และโรงเรียนพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ในเวลาต่อมา

การเรียนการสอนที่โรงเรียนวังไกลกังวล จะเป็นการสอนสดผ่านสื่อดาวเทียม สำหรับการอัดเทปจะใช้สำหรับการทบทวนการสอนเรื่องที่ยาก โดยออกอากาศวิชาสามัญทุกวันจันทร์ - ศุกร์ ระหว่างเวลา ๐๘.๒๐-๑๕.๑๐ น. หลังช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นการออกอากาศการศึกษาด้านอาชีพและประสบการณ์ ปัจจุบัน โรงเรียนวังไกลกังวลเป็นสถานีแม่ข่ายมหามงคลกาญจนาภิเษก โดยกระทรวงศึกษาธิการถ่ายทอดการเรียนการสอนดังกล่าวไปยังโรงเรียนในสังกัดสำนักงานการประถมศึกษากว่าสามหมื่นแห่งทั่วประเทศ รวมถึงโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร และโรงเรียนเอกชนบางแห่งก็เข้าร่วมในโครงการนี้ด้วย

นอกจากการสนับสนุนการศึกษาดังกล่าวแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการจัดทำสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนขึ้น เพื่อที่จะให้เยาวชนแต่ละรุ่น ตลอดจนผู้ใหญ่ที่มีความสนใจ สามารถที่จะศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ได้ตามความเหมาะสมของพื้นฐานความรู้ของแต่ละคน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน มีลักษณะแตกต่างจากสารานุกรมชุดอื่นๆ กล่าวคือ เป็นสารานุกรมอเนกประสงค์ที่บรรจุเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นสาระไว้ครบทุกแขนงวิชา โดยจัดแบ่งเนื้อหาของแต่ละเรื่องออกเป็นสามระดับ โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละสาขาวิชา การอุทิศเวลาและความรู้ เพื่อสนองพระราชดำริ โดยร่วมกันเขียนเรื่องต่างๆ ขึ้น แบ่งออกเป็น ๔ สาขาวิชา คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

     

 

การเกษตร
การศึกษา
การสาธารณสุข
ศาสนา
วัฒนธรรม
เทคโนโลยีสมัยใหม่
หมวดความคิด

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ห้ามนำข้อมูลของเวปไซท์นี้ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร