ปัญหาสิ่งแวดล้อม ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องได้รับการดำเนินการแก้ไขควบคู่ไปกับการพัฒนาความเจริญก้าวหน้า เพราะยิ่งมีความเจริญก้าวหน้า ย่อมหมายถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมยิ่งก่อตัวและทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นเงาตามกันไป ซึ่งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะเป็นวิธีการที่จะทำนุบำรุง และปรับปรุงสภาพทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นในด้านต่างๆ เช่น การอนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ และป่าไม้ ดังนี้

 

การอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรดิน

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีแนวพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องของดิน ทั้งปัญหาดินที่เสื่อมโทรม ขาดคุณภาพ และการขาดแคลนที่ดินทำกินสำหรับเกษตรกร ดังนี้

 

 

• สนับสนุนให้เกษตรกรได้เรียนรู้ และเข้าใจถึงวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำ ทรงมีพระราชดำริให้อนุรักษ์ผิวดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ให้คงอยู่ รวมถึงให้คงไม้ยืนต้นไว้ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของผิวดิน พร้อมทั้งพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน เพื่อศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการสร้างระบบอนุรักษ์ดิน และน้ำ รวมถึงเป็นตัวอย่างของการชะล้างพังทลายของดิน จัดตั้งศูนย์การศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง เพื่อศึกษาและพัฒนาพื้นที่พรุ ซึ่งมีดินเปรี้ยว ให้กลายเป็นดินที่มีคุณภาพ เพาะปลูกได้ รวมถึงจัดทำแปลงสาธิตการพัฒนาที่ดินแก่เกษตรกร นอกจากนี้ยังทรงพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝก เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนา และอนุรักษ์ต้นน้ำ รวมถึงความชุ่มชื้นของดินได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

 

 

• จัดสรรและปฏิรูปที่ดิน ด้วยการนำที่ดินเปล่ามาจัดสรรให้เกษตรกรที่ไร้ที่ทำกิน ได้ประกอบอาชีพในรูปของหมู่บ้านสหกรณ์ โดยให้เฉพาะสิทธิ์ทำกิน แต่ไม่ให้สิทธิ์ถือครอง นอกจากนี้ยังจัดสรรที่ดินให้ราษฎรชาวไทยภูเขามีที่ดินทำกินและอยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง เพื่อจะได้ไม่ต้องทำลายผืนป่าอีกต่อไป พร้อมทั้งพระราชทานแนวทฤษฎีใหม่ในการแก้ไขปัญหาที่ดิน ด้วยการให้จัดสรรที่ดินของเกษตรกรเป็นสัดส่วน มีแหล่งน้ำในที่ดินแต่ละแปลง เพื่อให้เกษตรกรเจ้าของที่ดินสามารถทำการเกษตรแบบผสมผสานได้ เพื่อจะได้มีผลผลิตและรายได้ไว้ใช้จ่ายได้ตลอดทั้งปี

 

การอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งน้ำ
     

จากการที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทยมีอาชีพทางด้านเกษตรกรรม การอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำจึงถือเป็นสิ่งจำเป็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียง ใหม่ เพื่อศึกษาค้นคว้า เกี่ยวกับรูปแบบที่เหมาะสมของการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธาร เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจรวมทั้งรูปแบบการพัฒนาต่าง ๆ ที่ทำให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้ โดยไม่ต้องทำลายสภาพแวด ล้อมทางธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้การอนุรักษ์ต้นน้ำและพัฒนาป่า เป็นกระบวนการที่ดำเนินไปพร้อมกันกับการประกอบอาชีพ

     สำหรับแหล่งน้ำในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัดที่มีปัญหาการเน่าเสีย พระองค์ก็ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรพร้อมทั้งได้พระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียด้วยการประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” เพื่อใช้ในการบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากแหล่งชุมชนและแหล่งอุตสาหกรรม

 

การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
     เมื่อจำนวนประชากรของประเทศเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการการบุกรุกทำลายป่าไม้ เพื่อบุกเบิกพื้นที่ทำกิน ลักลอบ ตัดไม้ป้อนโรงงานอุตสาหกรรม และเผาถ่าน นอกจากนี้ การเร่งการดำเนินงาน บางโครงการ เช่น การก่อสร้างถนน สร้างเขื่อน ฯลฯ ทำ ให้มีการตัดไม้ โดยไม่คำนึงถึง การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ก็มีผลทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดน้อยลง และพื้นที่ป่าบางแห่งอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นความสำคัญของป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดปัญหาฝนแล้ง น้ำท่วม ดังที่ประเทศไทย ประสบอยู่ในขณะนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจากการทำลายป่า พระองค์จึงทรงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่น ที่จะแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาป่าให้ อยู่ในสภาพสมบูรณ์ดังเดิม จากแนวพระราชดำริของพระองค์ ก่อให้เกิด โครงการพัฒนาและบำรุงป่าไม้จำนวนมากมายทั่วประเทศ โดยเฉพาะป่าไม้ที่เป็นต้นน้ำลำธารให้คงสภาพอยู่เดิม เพื่อป้องกันอุทกภัย ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ถนอมน้ำไว้ใช้สำหรับหล่อเลี้ยงแม่น้ำลำธารด้วย เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยลานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

 

การเกษตร
สิ่งแวดล้อม
การสาธารณสุข
การส่งเสริมอาชีพ
การพัฒนาแหล่งน้ำ
การคมนาคมสื่อสาร
สวัสดิการสังคม
ตัวอย่างโครงการ

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ห้ามนำข้อมูลของเวปไซท์นี้ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร