โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๓๕ และ ๒๑ มีนาคม ๒๕๓๖ โดยจัดสรรพื้นที่ด้วยการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม แล้วจัดให้ราษฎรทำกิน เพื่อป้องกันการบุกรุกป่า พร้อมทั้งเร่งรัดให้ปลูกป่าในพื้นที่ที่ถูกทำลาย เพื่อฟื้นฟูแหล่งลำธาร พร้อมกับอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ที่ยังสมบูรณ์อยู่ และต้องมีมาตรการป้องกันรักษาป่าที่เหมาะสม นอกจากนี้ ควรจะพิจารณาสร้างฝากต้นน้ำ กระจายในพื้นที่ของโครงการ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่ป่าและจัดหาน้ำเพื่อสนับสนุนโครงการ

     โครงการนี้ มีกรมชลประทานเป็นหน่วยงานกลางในการบริหารและประสานงานโครงการฯ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรการดำเนินงานโครงการฯ ที่ตั้งขึ้นคือ คณะกรรมการบริหารโครงการฯ เพื่อให้การดำเนินงานตามโครงการฯ ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ได้แต่งตั้งองค์กรดำเนินงานโครงการฯ ขึ้น ๓ ชุด คือ คณะอนุกรรมการอำนวยโครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธาน และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ, คณะทำงานดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ ๑ เป็นประธาน และหัวหน้าศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นคณะทำงานและเลขานุการ และสำนักงานโครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีหัวหน้าศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นผู้อำนวยการโครงการฯ

     แผนในการดำเนินงาน ประกอบไปด้วย แผนงานพัฒนาแหล่งน้ำ ดำเนินการจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภค เพื่อการเกษตรให้แก่ราษฎรในเขตพื้นที่โครงการ ตลอดจนการจัดหาน้ำเพื่อสนับสนุนงานพัฒนาป่าไม้บริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธาร, แผนงานพัฒนาป่าไม้ ดำเนินการพัฒนาป้องกันรักษา และฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำลำธาร สภาพแวดล้อม, แผนงานพัฒนาที่ดิน ดำเนินการให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างถูกต้องตามศักยภาพของพื้นที่ รวมตลอดจนการบุกเบิกและพัฒนาพื้นที่ดินทำกินให้แก่ราษฎร, แผนงานพัฒนาอาชีพ ดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมอาชีพทั้งในและนอกการเกษตรให้แก่ราษฎร, แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ เพิ่มเติมตามความจำเป็น, แผนงานพัฒนาสภาพแวดล้อม ดำเนินการพัฒนาสภาพแวดล้อม โดยเน้นการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชน และการลดละการใช้สารเคมีเพื่อป้องกันสารพิษตกค้าง, แผนพัฒนาบุคลากร ดำเนินการฝึกอบรมบุคลากรทั้งในภาครัฐและราษฎรที่ช่วยปฏิบัติงานในโครงการ และแผนงานติดตามประเมินผลโครงการฯ ดำเนินการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานตามโครงการเป็นระยะ ๆ โดยผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ เพราะสามารถฟื้นฟูป่าไม้ที่ถูกทำลายให้มีทรัพยากรป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและสามารถป้องกันรักษาป่าไม้ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ และยังสามารถจัดการหาพื้นที่ให้แก่ราษฎรที่อาศัยอยู่ในป่าให้เหมาะสม ราษฎรในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังให้ความร่วมมือร่วมใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ รวมทั้งช่วยกันดูแลควบคุมไฟป่า ร่วมกันปลูกเสริมป่าให้มีสภาพป่าที่สมบูรณ์ เพื่อให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

     

 

   


     

 

ี้


 

การเกษตร
สิ่งแวดล้อม
การสาธารณสุข
การส่งเสริมอาชีพ
การพัฒนาแหล่งน้ำ
การคมนาคมสื่อสาร
สวัสดิการสังคม
ตัวอย่างโครงการ

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ห้ามนำข้อมูลของเวปไซท์นี้ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร