โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดมุกดาหาร

     เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๓๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาจัดตั้งโครงการพัฒนาพื้นที่ ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบนฯ ในลักษณะการพัฒนาพื้นที่แบบเบ็ดเสร็จ โดยประสานหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการร่วมกันเพื่อการเร่งรัดการจัดหาแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค–บริโภค และการเกษตร ตลอดจนการพัฒนาอาชีพการเกษตร และศิลปาชีพรวมทั้งการพัฒนาฟื้นฟูสภาพป่าและต้นน้ำลำธาร ทั้งนี้ โดยให้มีการจัดการในลักษณะสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์, กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมชลประทานสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นอกจากนี้ยังมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน, กรมการปกครองและ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม โดยกองบัญชาการทหารสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน


     ผลการดำเนินงาน สำนักงาน กปร. ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณแก่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินงานสนองพระราชดำริในด้านต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม และการส่งเสริมการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำให้เกิดประโยชน์ควบคู่กับการรักษาป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติ โดยการดำเนินงานมีการส่งเสริมการรวมกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่รับประโยชน์ของอ่างเก็บน้ำ จำนวน ๗ แห่ง ซึ่งมีความจุรวม ๒๕ ล้านลูกบาศก์เมตร และมีพื้นที่รับประโยชน์รวม ๘,๔๐๐ ไร่ โดยมีระบบท่อส่งน้ำครบทุกแห่ง และสามารถส่งน้ำสนับสนุนแปลงเพาะปลูกในฤดูแล้งที่ผ่านมาทำให้ราษฎรในพื้นที่เป้าหมายมีน้ำใช้เพื่อทำการเกษตร และใช้อุปโภค-บริโภค อย่างเพียงพอตลอดปี


     ด้านการพัฒนาอาชีพ มีการส่งเสริมอาชีพด้านต่าง ๆ ที่หลากหลาย ได้แก่ การเพาะปลูกพืช เช่น การส่งเสริมการพัฒนาเกษตรชลประทาน การจัดการที่ดินในลักษณะไร่นาสวนผสม การส่งเสริมการปลูกยางพารา และผลไม้ต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนการรวมกลุ่มอาชีพผ่านสหกรณ์การเกษตรห้วยบางทรายให้เกษตรกรรู้จักพึ่งพาอาศัยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และสร้างเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มอาชีพได้แก่ กลุ่มปลูกอ้อย กลุ่มปลูกข้าวไร่ กลุ่มปลูกหน่อไม้ฝรั่ง กลุ่มปลูกหวาย และกลุ่มปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ให้มีการรวมกันขายผลผลิต และรวมกันซื้อปัจจัยการผลิต


     ด้านการพัฒนาที่ดิน มีการสำรวจวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน และปรับปรุงบำรุงดินที่เสื่อมคุณภาพให้คืนสภาพสมบูรณ์ โดยวิธีการใช้ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยพืชสด ปีละ ๕๐๐ ไร่ ทั้งนี้ ฯพณฯ นายจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารโครงการฯ ได้มีบัญชาให้สำนักผู้เชี่ยวชาญ กรมพัฒนาที่ดิน สำรวจ และวางแนวทางพัฒนาที่ดิน ซึ่งได้เสนอโครงการพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยพุงเป็นโครงการนำร่อง โดยจะมีการปรับเปลี่ยนแผนการเพาะปลูกพืชจากเดิมที่นิยมปลูกมันสำปะหลังมาเป็นพืชไร่ที่บำรุงดิน ควบคู่กับการใช้หญ้าแฝกปลูกเป็นแนวขวางความลาดชัน เพื่อป้องกันดินถูกชะล้างพังทลายได้ง่าย รวมทั้งให้มีการวางแผนการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์เหมาะสมกับศักยภาพและลักษณะของดิน


     ด้านการพัฒนาป่าไม้ สนับสนุนการปลูกป่า ๓ อย่างประโยชน์ ๔ อย่าง โดยเพาะชำกล้าไม้ไผ่ กล้าไม้เศรษฐกิจ และไม้ผลจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ กล้า เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการปลูกพืชอาหารป่า (Food Bank) ในเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งนอกจากจะได้ประโยชน์ด้านการใช้สอยและเป็นแหล่งอาหารแล้ว ได้ใช้ประโยชน์อย่างที่ ๔ คือ ช่วยอนุรักษ์ดิน และรักษาความชุ่มชื้นแก่ต้นน้ำลำธาร นอกจากนี้ได้สนับสนุนการฝึกอบรมสร้างจิตสำนึกแก่เยาวชนให้รู้จักคุณค่า ประโยชน์และความสำคัญของป่า เพื่อให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า และป้องกันการบุกรุกทำลายป่าไม้


     ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและโครงสร้างพื้นฐาน ได้มีการดำเนินงานในชุมชนทุกด้าน ได้แก่ ถนน ไฟฟ้า ประปาหมู่บ้าน ตลอดจนพัฒนาสุขนิสัย สุขภาพอนามัย เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการ และด้านสาธารณสุข เพื่อให้ชุมชนมีสภาพแวดล้อมที่ดี โดยในปีนี้ กปร. ได้สนับสนุนงบประมาณก่อสร้างทางมาตรฐานจากบ้านแก่งนางถึงอาคารผันน้ำของ อ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ ระยะทาง ๕ กิโลเมตร

 

 

 


 

 

 

 

 

 

การเกษตร
สิ่งแวดล้อม
การสาธารณสุข
การส่งเสริมอาชีพ
การพัฒนาแหล่งน้ำ
การคมนาคมสื่อสาร
สวัสดิการสังคม
ตัวอย่างโครงการ

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ห้ามนำข้อมูลของเวปไซท์นี้ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร