โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี ๒๕๔๘

 

พระราชดำริและความเป็นมา
     เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๒๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดเพชรบุรีทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทานสรุปได้ว่า
" ให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ริมห้วยแม่ประจันต์ให้มีน้ำใช้เพาะปลูกและอุปโภค–บริโภคได้ตลอดปี นอกจากนั้นยังช่วยระบายน้ำลงมาเสริมให้กับโครงการชลประทานเพชรบุรีในระยะที่ขาดแคลนน้ำและช่วยเก็บกักไว้ใช้ในฤดูน้ำนอง เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตโครงการเพชรบุรีให้ได้ผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น "
     โครงการห้วยแม่ประจันต์ฯ เป็นโครงการขนาดใหญ่ซึ่งใช้งบประมาณดำเนินงานสูง รัฐบาลในขณะนั้นจึงมีนโยบายที่จะชะลองานก่อสร้างขนาดใหญ่ ทำให้กรมชลประทานจึงต้องเลื่อนการก่อสร้างโครงการฯ ออกไป
    สืบเนื่องจากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๔๖ และวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในเขตจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยทรงมีพระราชดำริให้เร่งดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว กรมชลประทานจึงได้พิจารณาปรับแผนงานก่อสร้าง เหลือระยะเวลาการดำเนินการ ๓ ปี (๒๕๔๖-๒๕๔๘) โดยขอให้กองทัพบกสนับสนุนกำลังพลและเครื่องจักรเครื่องมือเข้าร่วมดำเนินการ
วัตถุประสงค์ของโครงการฯ
๑.เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภค-บริโภคได้เพียงพอตลอดปี
๒.เพื่อระบายน้ำเสริมและช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการชลประทานเพชรบุรีในช่วงฤดูแล้ง
๓.เพื่อบรรเทาอุทกภัยในบริเวณลุ่มน้ำเพชรบุรีในช่วงฤดูน้ำหลาก
ลักษณะโครงการ
๑. โครงการห้วยแม่ประจันต์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่หมู่ ๕ บ้านจะโปรง ตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี ลักษณะโครงการประเภทอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ทำนบดินหัวงานเป็นเขื่อนดินชนิด Zone Type ความสูง ๒๑.๖๐ เมตร ความยาวเขื่อนดิน ๒,๑๐๕.๐๐ เมตร ความกว้างของสันเขื่อน ๘.๐๐ เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ ๔๒.๒๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ระดับน้ำสูงสุด ๕๓.๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร
๒. อาคารประกอบ จำนวน ๒ แห่ง
 
๑) อาคารระบายน้ำล้น (Spillway) แบบบานระบายโค้งขนาด ๖.๐๐ x ๑๒.๕๐ เมตร จำนวน ๓ ช่อง สันฝายยาว ๔๒.๕๐ เมตร สามารถระบายน้ำได้สูงสุดได้ ๑,๓๖๐ ลูกบาศก์เมตร/วินาที
๒) อาคารระบายน้ำลงลำน้ำเดิม (River Outlet) ชนิดท่อคอนกรีตเสริมเหล็ก STEEL LINER เส้นผ่าศูนย์กลางท่อ ๑.๖๐ เมตร สามารถระบายน้ำได้สูงสุดได้ ๑๖.๒๐ ลูกบาศก์เมตร/วินาท
๓. เครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อน
ผลการดำเนินงาน
     ผลการดำเนินงาน ณ วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๔๘ สรุปได้ดังนี้
๑. งานก่อสร้างเขื่อนทำนบดิน ประกอบด้วย งานขุดลอกร่องแกน งานปรับปรุงฐานราก งานดินถมบดอัดแน่น งานหินเรียง งานหินทิ้ง ได้ผลงาน ๗๓.๗๓ %
๒. งานอาคารระบายน้ำ (River Outlet) ประกอบด้วย งานคอนกรีตเสริมเหล็ก งานดินถมบดอัดแน่นข้างอาคาร งานหินเรียงด้านหน้าอาคาร ได้ผลงาน ๖๑.๒๖ %
๓. งานอาคารระบายน้ำล้น (Spillway) ประกอบด้วย งานขุดดิน-ระเบิดหินพร้อมขนย้าย งานคอนกรีตหยาบรองพื้น งานคอนกรีตเสริมเหล็กตัวอาคาร ได้ผลงาน ๕๙.๗๐ %
     สรุปผลงานตั้งแต่เริ่มต้นถึงวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๔๘ ได้ผลงานทั้งโครงการประมาณ ๖๔.๖๖ % คาดว่าจะดำเนินงานแล้วเสร็จภายในปี ๒๕๔๘ ทั้งนี้จะเริ่มดำเนินการเก็บกักน้ำตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๔๘ เป็นต้นไป และคาดว่าจะสามารถเก็บกักน้ำได้เต็มปริมาณความจุของอ่างจำนวน ๔๒.๒๐ ล้านลูกบาศก์เมตรในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๘ (ในกรณีค่าเฉลี่ยฝนปกติ) ซึ่งส่งผลให้มีโรงเรียนที่ตั้งอยู่เหนืออ่างเก็บน้ำจะถูกน้ำท่วม ๒ โรงเรียน ปัจจุบันสำนักงาน กปร. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาในการเตรียมสถานที่เรียนแห่งใหม่เรียบร้อยแล้ว
การติดตามผลการดำเนินงานขององคมนตรี
     เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๘ ฯพณฯ นายจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา องคมนตรี และ ฯพณฯ นายสวัสดิ์ วัฒนายากร องคมนตรี ได้ร่วมประชุมและติดตามความก้าวหน้าโครงการฯ พร้อมทั้งมีความเห็นในการดำเนินงานต่อไป สรุปได้ดังนี้
๑. กรมการทหารช่างสนับสนุนกำลังพลและเครื่องจักรเครื่องมือดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ฯ ในปี ๒๕๔๗ เป็นปริมาณดิน ๑,๓๖๑,๖๐๐ ลูกบาศก์เมตร และในปี ๒๕๔๘ ดำเนินงานขุดลอกห้วยแห้ง ปริมาณดิน ๒๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร และงานขุดและขนย้ายดินปริมาณดิน ๕๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ทำให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยทุกฝ่ายร่วมมือดำเนินงานอย่างจริงจัง
๒. ปัจจุบันความต้องการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคในเขตเทศบาลเมืองหัวหินเพิ่มขึ้น การส่งน้ำจากเขื่อนเพชร อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ถึงเทศบาลเมืองหัวหินโดยคลองส่งน้ำเดิม ไม่เพียงพอโดยมีการลักลอบสูบน้ำไปใช้ มีการทิ้งขยะลงในคลองส่งน้ำ และการส่งน้ำโดยท่อจากเขื่อนปราณบุรีมีปัญาหาเนื่องจากน้ำไม่เพียงพอในบางปี จึงควรหาแนวทางแก้ไข โดยการวางท่อส่งน้ำจากเขื่อนเพชรถึงหัวหิน เพื่อนำน้ำมาเสริมในการอุปโภคบริโภคที่อำเภอชะอำและอำเภอหัวหินด้วย
๓. ควรพิจารณาหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมโดยเสริมบานระบายน้ำของเขื่อนปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สูงเพิ่มขึ้นประมาณ ๑ เมตร จะสามารถเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นประมาณ ๔๐.๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรในพื้นที่ปราณบุรี และใช้ผลิตน้ำประปาเพื่อใช้ในเขตเทศบาลเมืองหัวหินได้เพิ่มขึ้น

 













ี้


  

 

การเกษตร
สิ่งแวดล้อม
การสาธารณสุข
การส่งเสริมอาชีพ
การพัฒนาแหล่งน้ำ
การคมนาคมสื่อสาร
สวัสดิการสังคม
ตัวอย่างโครงการ

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ห้ามนำข้อมูลของเวปไซท์นี้ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร