โครงการแก้มลิง

     จากการที่มีปัญหาน้ำท่วมล้นในบางพื้นที่ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ๕ แนวทางคือสร้างคันกั้นน้ำ, จัดให้มีพื้นที่สีเขียว เพื่อกันการขยายตัวของเมือง, ให้มีการขุดลอกคลอง และขุดคลองใหม่, สร้างที่เก็บน้ำตามจุดต่างๆ และขยายช่องทางรับน้ำผ่านทางรถไฟและทางหลวง

     ทั้งนี้ในการสร้างคันกั้นน้ำ โดยการก่อสร้างคันดินกั้นน้ำขนานไปตามลำน้ำเพื่อป้องกัน มิให้น้ำล้นตลิ่งไปท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ ด้านในการก่อสร้างทางผันน้ำ เพื่อผันน้ำทั้งหมดหรือบางส่วนที่ล้นตลิ่งท่วมล้นเข้ามา ให้ออกไป การปรับปรุงและตกแต่งสภาพลำน้ำ เพื่อให้น้ำที่ท่วมทะลักสามารถไหลไปตามลำน้ำได้สะดวก หรือช่วยให้กระแสน้ำไหลเร็วยิ่งขึ้น การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตามพระราชดำริ "แก้มลิง"

     วิธีการของโครงการแก้มลิง คือดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบน ให้ไหลลงคลองพักน้ำขนาดใหญ่ ที่บริเวณชายทะเล เมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำกว่าระดับน้ำในคลอง ก็ทำการระบายน้ำจากคลองดังกล่าว โดยใช้หลักการทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow) ตามธรรมชาติ สูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่ "แก้มลิง" นี้ เพื่อจะได้ทำให้น้ำตอนบนค่อยๆ ไหลมาเองตลอดเวลา ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลองให้ทำการปิดประตูระบายน้ำ โดยยึดหลักน้ำไหลลงทางเดียว (One Way Flow)

  หลักการที่โครงการแก้มลิงจะสามารถมีประสิทธิภาพบรรลุผลสำเร็จตามแนวพระราชดำริคือ การพิจารณาสถานที่ที่จะทำหน้าที่เป็นบ่อพัก และวิธีการชักนำน้ำท่วมไหลเข้าสู่บ่อพักน้ำ เส้นทางน้ำไหลที่สะดวกต่อการระบายน้ำเข้าสู่แหล่งที่ทำหน้าที่บ่อพักน้ำ การระบายน้ำออกจากบ่อพักน้ำอย่างต่อเนื่อง โครงการแก้มลิงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้คลองชายทะเลที่ตั้งอยู่ริมทะเลด้านจังหวัดสมุทรปราการ ทำหน้าที่เป็นบ่อพักน้ำหรือบ่อรับน้ำ โครงการแก้มลิงในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำหน้าที่รับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อระบายออกทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเพื่อให้การระบายน้ำท่วมออกทะเลเร็วขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ คือ โครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง" ซึ่งใช้หลักการในการควบคุมน้ำในแม่น้ำท่าจีน คือ เปิดระบายน้ำจำนวนมากลงสู่อ่าวไทยเมื่อระดับน้ำทะเลต่ำ โครงการแก้มลิงแม่น้ำท่าจีนตอนล่าง จะมีประสิทธิภาพสมบูรณ์ต้องดำเนินการครบระบบ ๓ โครงการ ด้วยกัน คือ

• โครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง"
• โครงการแก้มลิง "คลองมหาชัย-คลองสนามชัย"
• โครงการแก้มลิง "คลองสุนัขหอน"
 
กังหันน้ำชัยพัฒนา
     ปัจจุบัน ภาวะมลพิษอันเกิดจากน้ำเน่าเสียมีอัตราและปริมาณสูงขึ้นจนยากแก่การแก้ไขให้บรรเทาลงได้ ในขณะเดียวกัน กลับมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานพระราชดำริให้ประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศแบบ ประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถผลิตขึ้นได้เองในประเทศ โดยทรงมุ่งหวังที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการบรรเทาน้ำเน่าเสียอีกทางหนึ่งด้วย โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาสนับสนุนงบประมาณ เพื่อศึกษาวิจัยสิ่งประดิษฐ์ใหม่นี้ร่วม กับกรมชลประทาน ซึ่งต่อมาเครื่องมือบำบัดน้ำเสียนี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย และเรียกกันว่า"กังหันน้ำชัยพัฒนา"
ปัจจุบัน ได้มีการวิจัยเพื่อประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศ ๙ รูปแบบ คือ
๑. เครื่องกลเติมอากาศระบบเป่าอากาศลงไปใต้น้ำและกระจายฟอง Chaipattana Aerator, Model RX-๑
๒. เครื่องกลเติมอากาศระบบเป่าอากาศหมุนใต้น้ำ หรือ "ชัยพัฒนาซุปเปอร์ฟองแอร์" Chaipattana Aerator, Model RX-๓
๓. เครื่องกลเติมอากาศแรงดันน้ำ หรือ "ชัยพัฒนาเวนจูรี่" Chaipattana Aerator, Model RX-๔
๔. เครื่องกลเติมอากาศระบบอัดและดูดอากาศลงใต้น้ำ หรือ "ชัยพัฒนาแอร์เจท Chaipattana Aerator, Model RX-๕
๕. เครื่องกลเติมอากาศแบบตีน้ำสัมผัสอากาศ หรือ "เครื่องตีน้ำชัยพัฒนา" Chaipattana Aerator, Model RX-๖
๖. เครื่องกลเติมอากาศแบบดูดและอัดน้ำลงไปที่ใต้ผิวน้ำ หรือ "ชัยพัฒนาไฮโดรแอร์" Chaipattana Aerator, Model RX-๗
๗. เครื่องมือจับเกาะจุลินทรีย์ หรือ "ชัยพัฒนาไบโอ" Chaipattana Bio-Filter, Model RX-๘
๘. เครื่องกลเติมอากาศแบบกระจายน้ำสัมผัสอากาศ หรือ "น้ำพุชัยพัฒนา" Chaipattana Aerator, Model RX-๙
๙. เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำแบบหมุนช้า หรือ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" Chaipattana Aerator, Model RX-๒

     เครื่องกลเติมอากาศต่างๆนี้ ได้นำมาติดตั้งใช้งานกับระบบบำบัดน้ำเสียตามสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ และได้มีการปรับปรุงตลอดเวลา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะให้มีการบำบัดน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวกในการใช้งาน ประหยัดค่าใช้จ่าย และบำรุงรักษาได้ง่าย ตลอดจนมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน การดำเนินงานในขณะนี้ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ ทำให้น้ำใสสะอาดขึ้น ลดกลิ่นเหม็นลงได้มากและมีปริมาณออกซิเจนในน้ำเพิ่มขึ้น บรรดาสัตว์น้ำ อาทิเต่า ตะพาบน้ำ และปลา สามารถอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัย ตลอดจนสามารถบำบัดความสกปรกในรูปของมลสารต่าง ๆ ให้ลดต่ำลง ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ปัจจุบันมีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร้องขอให้มูลนิธิชัยพัฒนาเข้าไปช่วยเหลือในการบำบัด น้ำเสียอย่างเร่งด่วนเป็นจำนวนมากเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ เครื่องกลเติมอากาศ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ได้รับการพิจารณาและทูลเกล้า ฯ ถวายสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย นับเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ ๙ ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตร และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรับจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรให้แก่พระบรมราชวงศ์ด้วย จึงนับได้ว่าเป็น "สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยและเป็นครั้งแรกของโลก" นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้ประกาศให้กังหันน้ำชัยพัฒนาได้รับรางวัลที่ ๑ ประเภทรางวัลผลงานคิดค้นหรือสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ประจำปี ๒๕๓๖ และทูลเกล้า ฯ ถวายรางวัลนี้แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกวาระหนึ่ง

     กังหันน้ำชัยพัฒนาเป็นเครื่องกลเติมอากาศแบบทุ่นลอย สามารถปรับตัวขึ้นลงได้ ตามระดับขึ้นลงของผิวน้ำ ในแหล่งน้ำเสีย มีลักษณะเป็นโครงกังหันน้ำรูป ๑๒ เหลี่ยม มีซองบรรจุน้ำติดตั้งโดยรอบ จำนวน ๖ ซอง รูซองน้ำพรุนเพื่อให้น้ำไหลกระจายเป็นฝอย ซึ่งซองน้ำจะถูกขับเคลื่อนให้หมุนโดยรอบด้วยเกียร์มอเตอร์ ซึ่งทำให้การหมุนเคลื่อนที่ของซองน้ำ วิดตักน้ำด้วย ความเร็ว สามารถวิดน้ำลึกลงไปจากใต้ผิวน้ำประมาณ ๐.๕๐ เมตร ยกน้ำสาดขึ้นไปกระจายเป็นฝอยเหนือผิวน้ำ ได้สูงถึง ๑ เมตร ทำให้มีพื้นที่ผิวสัมผัสระหว่างน้ำกับอากาศมากและส่งผลให้ออกซิเจนสามารถละลายเข้าไปในน้ำ ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งน้ำเสียที่ถูกยกไปสาดกระจายและสัมผัสกับอากาศตกลงมายังผิวน้ำ จะเกิดฟองอากาศจมไปใต้ผิวน้ำด้วย ในเวลาเดียวกัน ก็จะเกิดการอัดอากาศภายในซองน้ำที่เคลื่อนที่ลงสู่ใต้ผิวน้ำด้วย เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการถ่ายเทออกซิเจนมีสูง

 
ฝนหลวง

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในแถบตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ทรงสังเกตเห็นว่า บริเวณดังกล่าวมีปริมาณเมฆปกคลุมอยู่มาก แต่ไม่สามารถรวมตัวกันจนเกิดเป็นฝนตกได้ ทำให้หลายๆ พื้นที่มีปัญหาทางการเกษตร ทั้งการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค พื้นดินแห้งแล้ง สามารถทำการเกษตรหรือเพาะปลูกได้ แม้ว่าจะเป็นฤดูฝนก็ตาม ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกลของพระองค์ กอรปกับพระอัจฉริยภาพของพระองค์ที่มีคุณลักษณะของนักวิทยาศาสตร์ หลังจากที่พระองค์ได้ทรงวิเคราะห์ข้อมูลในเบื้องต้นแล้ว จึงได้มีพระราชดำริแก่หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ว่าจะทรงค้นหาวิธีทำให้ฝนตกแบบไม่เป็นธรรมชาติ
จากแนวพระราชดำริดังกล่าว จึงเกิดการทำ “ฝนหลวง” หรือ “ฝนเทียม” ขึ้น พร้อมทั้งมีการจัดตั้งสำนักปฏิบัติการฝนหลวง มีหน้าที่รับผิดชอบการทำฝนหลวงจวบจนปัจจุบัน


     ทั้งนี้ พระองค์ทรงวิเคราะห์ถึงการทำฝนหลวงไว้ ๓ ขั้นตอนคือ ขั้นตอนก่อกวน คือกระตุ้นให้เมฆมีการรวมตัวกัน เพื่อให้เกิดแกนกลางในการสร้างกลุ่มเมฆฝน ต่อมาคือขั้นตอนเลี้ยงให้อ้วน คือใช้สารเคมีมาช่วยเพื่อเพิ่มแกนเม็ดไอน้ำให้กับกลุ่มเมฆฝนให้หนาแน่น และขั้นตอนสุดท้ายคือการโจมตี ด้วยการนำสารเคมีมาช่วยทำให้เกิดภาวะไม่สมดุล จะทำให้เกิดเม็ดน้ำที่มีขนาดใหญ่ และกลายเป็นฝนในที่สุด
ปัจจุบัน ฝนหลวงมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และเพื่ออุปโภคบริโภคในช่วงแล้ง นอกจากนี้ ฝนหลวงยังช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศอีกด้วย

การบำบัดน้ำเสียโดยธรรมชาติ

     โครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นโครงการศึกษาวิจัย วิธีการบำบัดน้ำเสีย กำจัดขยะมูลฝอยและการรักษาสภาพป่าชายเลนด้วยวิธีธรรมชาติ ตามแนวพระราชดำริเนื่องจากปัญหาภาวะมลพิษมีผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนเป็นอย่างมาก สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือ ชุมชนเมืองต่างๆ ยังขาดระบบบำบัดน้ำเสียและการกำจัดขยะมูลฝอยที่ดีและมีประสิทธิภาพ

     จากการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นของพระองค์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมชลประทาน ร่วมกับสำนักงาน คณะกรรมการพิเศษเพื่อการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ศึกษาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมพร้อมกับสำรวจพื้นที่เพื่อดำเนินการ และพบว่า บริเวณตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี มีพื้นที่ทั้งสิ้น ๑,๑๓๕ ไร่ เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ ไม่ติดปัญหาเรื่องการเวนคืน จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล และทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว จึงเกิดเป็นโครงการดังกล่าวขึ้นมา โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบหลายหน่วยงานด้วยกัน อาทิ ด้วย มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงาน กปร. กรมชลประทาน กรมป่าไม้ กรมประมง เป็นต้น

     หลักการดำเนินงาน เริ่มจากดำเนินการสร้างท่อระบายน้ำ โดยส่งน้ำเสียไปยังสถานีสูบน้ำเสียที่คลองยาง ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นบ่อดักขยะ และบ่อตกตะกอนในเบื้องต้น สามารถลดค่าความสกปรกลงได้ประมาณ ๔๐% จากนั้น สูบน้ำเสียจากคลองยาง ส่งต่อไปตามท่อ เพื่อเข้าสู่ระบบการบำบัดน้ำเสียที่ตำบลแหลมผักเบี้ย ซึ่งดำเนินการพร้อมกัน ๒ ระบบ คือ ระบบบำบัดน้ำเสีย และระบบกำจัดขยะ

     ระบบบำบัดน้ำเสีย มีอยู่ด้วยกัน ๕ บ่อในพื้นที่ ๙๕ ไร่ จากนั้นจะไหลไปสู่บ่อตกตะกอน และบ่อบำบัด ก่อนจะไปยังบ่อปรับคุณภาพน้ำ จากนั้นจะไหลลงสู่ป่าชายเลน ซึ่งคณะวิจัยจะตรวจสอบคุณภาพน้ำในขั้นตอนสุดท้ายนี้อย่างใกล้ชิด

     นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการบ่อบำบัดน้ำรองในพื้นที่ประมาณ ๖๐ ไร่อีกด้วย ประกอบไปด้วยระบบบึงชีวภาพ ระบบกรองน้ำเสียด้วยหญ้า และระบบกรองน้ำเสียด้วยป่า ซึ่งพืชที่ปลูกอยู่ในบึงจะทำหน้าที่ดูดซับสารพิษและอินทรีย์สารให้ลดน้อยลง และทำหน้าที่ย่อยสลายสารอินทรีย์ให้หมดไป

 
โครงการน้ำดีไล่น้ำเสีย

     คือการทำให้น้ำเจือจาง ด้วยการใช้หลักการตามธรรมชาติคือแรงโน้มถ่วงของโลก คือใช้น้ำคุณภาพดีช่วยผลักน้ำเน่าเสียออกไป และทำให้น้ำเน่าเสียมีสภาพเจือจางลง ด้วยการเปิดให้น้ำจากแม่น้ำต่างๆ เข้าไปยังคลองต่างๆ ด้วยการกำหนดวงรอบการไหลของน้ำให้เหมาะสม น้ำดีจะช่วยเจือจางสภาพของน้ำเน่าเสีย และนำพาสิ่งโสโครกให้ออกไปได้

     แนวพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ทรงให้ไว้สองแนวทาง แนวทางแรกคือเปิดประตูอาคารควบคุมน้ำรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงจังหวะน้ำขึ้นและระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ตอนระยะน้ำลง ซึ่งมีผลทำให้น้ำตามลำคลองมีโอกาสไหลถ่ายเทกันไปมามากขึ้นกว่าเดิม เกิดมีการหมุนเวียนของน้ำที่มีสภาพเน่าเสีย กลิ่นเหม็น กลายเป็นน้ำที่มีคุณภาพดีขึ้น และแนวทางที่สอง ขุดลอกคลองเปรมประชากรพร้อมทั้งกำจัดวัชพืชเพื่อให้เป็นคลอง สายหลักในการผันน้ำคุณภาพดีไปช่วยบรรเทาให้น้ำเสียเจือจางลงและให้คลองเปรมประชากรตอนล่างเป็นคลองที่สามารถรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปช่วย บรรเทาน้ำเสียโดยส่งกระจายไปตามคลองต่าง ๆของกรุงเทพมหานคร

 
โครงการบึงมักกะสัน

     บึงมักกะสัน เป็นบึงขนาดใหญ่ที่อยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ขุดขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ เพื่อใช้เป็นแหล่งระบายน้ำและรองรับน้ำเสีย รวมทั้งน้ำมันเครื่องจากโรงงานรถไฟมักกะสัน ทำให้บึงมักกะสันตื้นเขิน จากการตกตะกอนของสารแขวนลอย กอปรกับรอบบึงมักกะสันมีชุมชนแออัด ๓ ชุมชน รวม ๗๒๙ ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่ต่างก็ถ่ายสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอยลงสู่บึงมักกะสัน จนเกิด ปัญหาภาวะสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมและน้ำเน่าเสียกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงภาวะมลพิษนี้ จึงได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน และวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘ ให้หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันปรับปรุงบึงมักกะสันเพื่อใช้ประโยชน์ในการช่วยระบายน้ำและบรรเทาสภาพน้ำเสียในคลองสามเสน โดยใช้วิธีการของ "เครื่องกรองน้ำธรรมชาติ" คือใช้ผักตบชวา ซึ่งเป็นวัชชพืชที่มีอยู่มาก มาทำหน้าที่ดูดซับความโสโครก และสารพิษจากแหล่งน้ำเน่าเสีย และในเวลาเดียวกัน ก็ต้องหมั่นนำผักตบชวาออกจากบึงทุกๆ ๑๐ สัปดาห์ เพื่อไม่ให้ผักตบชวามีการเจริญพันธุ์ จนบดบังแสงแดดที่จะส่องลงไปในบึง

     แต่หลังจากที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย มีการก่อสร้างทางด่วนมหานครขั้น ๒ ระยะที่ ๑ โดยมีแนวผ่านบึงมักกะสันและมีตอม่อโครงสร้างอยู่กลางบึง ทำให้น้ำในบึงไม่ถูกแสงแดด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานพระราชดำริให้ใช้ เครื่องพ่นอากาศเข้าช่วย เมื่อมูลนิธิชัยพัฒนาและกรุงเทพมหานครรับสนองพระราชดำริ ทำให้บึงมักกะสัน สามารถฟอกน้ำในคลองสามเสนให้สะอาดขึ้น วันละ ๒๖๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ด้วยการใช้เครื่องเติมอากาศแบบทุ่นลอย ผสมกับ การใช้ผักตบชวา ซึ่งสามารถบำบัดน้ำเสียได้เพิ่มจากเดิม ๑๐ เท่า โดยมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นผู้จัดหา และติดตั้งเครื่องเติมอากาศ ขนาด ๑๑ KW จำนวน ๑๐ เครื่อง และกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการขุดลอกบึง พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำและปลูกผักตบชวา สำหรับน้ำที่ใสสะอาดขึ้นนี้ให้ระบายออกสู่คลองธรรมชาติ ตามเดิม แล้วรับน้ำเสียจำนวนใหม่มาดำเนินการผ่านกรรมวิธีเป็นวงจร เช่นนี้ตลอดไปในอนาคตเมื่อการกำจัดน้ำเน่าเสียด้วยผักตบชวาในบึงมักกะสันแห่งนี้ได้ผลดี ก็จะได้นำไป ใช้เป็นแบบอย่างในการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียที่แหล่งน้ำ หรือลำคลองอื่นต่อไป ซึ่งในขณะนี้กรุงเทพมหานครและการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นหน่วยงานหลักในการใช้ประโยชน์ และดูแลรักษาบึงแห่งนี้ให้คงมีสภาพที่ดีสืบไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปรียบเทียบว่า "บึงมักกะสัน" เป็นเสมือนดั่ง "ไตธรรมชาติ" ของกรุงเทพมหานคร ที่เป็นแหล่งเก็บกักและระบายน้ำในฤดูฝน

     สำหรับผักตบชวาและพืชน้ำอื่นๆ ก็จะกลายเป็นผลพลอยได้ที่นำมาทำเป็นปุ๋ย เชื้อเพลิง และสิ่งของเครื่องใช้ที่สานจากผักตบชวา อีกทั้งยังมีพืชน้ำบางชนิดที่นำมาเป็นอาหารได้ เช่น ผักบุ้ง รวมถึงสามารถเลี้ยงปลาในบึงเพื่อให้เป็นอาหารของประชาชนที่พักอาศัยอยู่โดยรอบได้อีกทางหนึ่งด้ว

 
โครงการหนองสนม-หนองหาน
     คือโครงการบำบัดน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติผสมกับเทคโนโลยีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำริให้จัดทำขึ้น ด้วยการจัดสร้างบ่อดัก แล้วใช้ต้นกกอียิปต์ช่วยดูดสารปนเปื้อน กรองสารแขวนลอย รวมถึงเติมออกซิเจนให้กับน้ำเสียก่อนจะเข้าสู่บ่อตกตะกอนตามธรรมชาติ ซึ่งในบ่อตกตะกอนนี้ จะเติมอากาศด้วยกังหันน้ำชัยพัฒนา เพื่อให้ออกซิเจนช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ที่ละลายอยู่ในน้ำเสีย
สำหรับโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำในหนองสนม ได้ใช้เครื่องเติมอากาศติดตั้งไว้บริเวณปากทางเข้าหนองสนม เพื่อเติมอากาศ และใช้ผักตบชวาช่วยบำบัดน้ำเสีย โดยกรมประมงได้ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียแบบบ่อผึ่ง กรมโยธาธิการดำเนินการออกแบบและก่อสร้างท่อรับน้ำเสียเพื่อนำน้ำเสียเข้าไปบำบัดในระบบบำบัดน้ำเสียของกรมประมงและกรมชลประทานดำเนินการศึกษาหาข้อมูลต่าง ๆ พร้อมทั้งออกแบบก่อสร้างระบบบำ บัดน้ำเสียด้วยพืชน้ำ เพื่อใช้เป็นบ่อบำบัดน้ำเสียขั้นสุดท้าย
 
โครงการบึงพระราม ๙

     "บึงพระราม ๙" เป็นบึงขนาดใหญ่อยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ประมาณ ๑๓๐ ไร่ ตั้งอยู่ในเขตที่ดินของ สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นบึงที่มีปัญหาภาวะมลพิษน้ำเน่าเสียอย่างรุนแรง เนื่องจากคลองลาดพร้าวเป็นคลองระบายน้ำหลักคลองหนึ่งของกรุงเทพมหานคร จึงรับน้ำเสียมาจากแหล่งชุมชน ที่อยู่สองฝั่งคลอง น้ำมีสภาพเน่าเสีย มีสีดำ และมีกลิ่นเหม็นของก๊าซอยู่ตลอดเวลา

     ระบบบำบัดน้ำเสียที่บึงพระราม ๙ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานพระราชดำริ ให้ใช้เครื่องเติมอากาศพร้อมๆ กับวิธีการทางธรรมชาติ ทำให้บึงพระราม ๙ เป็นระบบสระเติมอากาศ คือใช้เครื่องจักรกลเติมอากาศช่วยเพิ่มออกซิเจนละลายน้ำ ซึ่งเป็นระบบบำบัดน้ำเสียทางชีววิทยาโดยใช้ แบคทีเรียเป็นตัวกำจัดสาร อินทรีย์ในน้ำทิ้งด้วยปฏิกิริยาแบบใช้ออกซิเจน ซึ่งนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย

 
การบำบัดน้ำเสียด้วยกระบวนการทางฟิสิกส์เคมี
     สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ร่วมกับ มูลนิธิชัยพัฒนาและกรมชลประทาน ได้ดำเนินการสนองพระราชดำริด้วยการประดิษฐ์เครื่องบำบัดน้ำเสียด้วยสารเคมี และใช้เป็นเครื่องต้นแบบในการพัฒนาปรับปรุงสภาพแวดล้อมต่อไป ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการทำงานของเครื่องบำบัดน้ำเสียโดยใช้สารเร่งการตกตะกอนเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๗ พร้อมทั้งได้พระราชทานชื่อของเครื่องบำบัดน้ำเสียนี้ว่า เครื่อง "TRX-๑" นอกจากนี้ ยังทรงมีพราชดำริเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อศึกษา วิจัย และพัฒนาว่า ควรมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการผลิตสารเร่งการตกตะกอนในประเทศ เพื่อลดต้นทุนการบำบัดน้ำ, ควรตรวจสอบคุณภาพน้ำเสียก่อนบำบัด และหลังบำบัด เพื่อจะสามารถนำตะกอนที่ได้จากการบำบัดไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น และน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วควรได้รับการเติมออกซิเจนอีกครั้งหนึ่ง
 

 

 

 

การเกษตร
การบริหารจัดการน้ำ
เทคโนโลยีสารสนเทศ
ดนตรี
จิตรกรรม
ประติมากรรม
ถ่ายภาพ
หัตถกรรม
สถปัตยกรรม
กีฬา
วรรณกรรมและการแปล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ห้ามนำข้อมูลของเวปไซท์นี้ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร