พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความสำคัญของงานสถาปัตยกรรมไทย ในด้านความงดงาม ประณีต และเป็นงานที่สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญของชาติและบ่งบอกถึงความเจริญด้านจิตใจของคนไทย ถือเป็นงานศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าและได้สืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมมาเป็นเวลาอันยาวนาน ความสนพระราชหฤทัยของพระองค์ในด้านสถาปัตยกรรมนี้ ได้ยังประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองและประชาชนของพระองค์อย่างไพศาล รวมทั้งได้เกื้อหนุนต่อพัฒนาการของงานศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยอย่างยิ่งทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพด้านสถาปัตยกรรมไทยของพระองค์อย่างแท้จริง

     โครงการด้านสถาปัตยกรรมไทยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชดำริและพระบรมราชวินิจฉัยมีอยู่หลายประเภท ที่สำคัญได้แก่งานสถาปัตยกรรมไทยในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือนต้น ซึ่งเป็นหมู่เรือนไทย ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อเป็นการรักษาแบบฉบับของศิลปะ และเพื่อเผยแพร่งานด้านสถาปัตยกรรมไทยให้แก่พระราชอาคันตุกะที่ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมสถานที่ดังกล่าว

     นอกจากนี้ก็มีงานสถาปัตยกรรมไทยอันเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาและอาคารสาธารณะอื่นๆ พระราชกรณียกิจและความสนพระราชหฤทัยต่องานสถาปัตยกรรมไทยนี้ ซึ่งในการที่ทรงมีพระราชดำริและพระราชวินิจฉัยงานด้านสถาปัตยกรรมไทยนั้น จะทรงเน้นทั้งด้านการใช้สอย สัดส่วนและรูปทรง ตลอดจนส่วนประดับประดาตกแต่งต่างๆ พระราชทานแก่บรรดาสถาปนิกที่ถวายงานรับใช้พระองค์ท่าน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความชำนาญ อีกทั้งพรั่งพร้อมไปด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิในงานสถาปัตยกรรมไทยทั้งสิ้น

 

     ตลอดระยะเวลา ๖๐ ปี ของการครองราชย์ด้วยพระเกียรติยศอันสูงส่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้านสถาปัตยกรรมไทยในโครงการต่างๆ หลายประเภท ได้แก่ งานสถาปัตยกรรมไทยในพระบรมหาราชวัง และพระตำหนักต่างๆ งานสถาปัตยกรรมไทยที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา และงานสถาปัตยกรรมไทยประเภทอื่นๆ ตัวอย่างของโครงการเหล่านั้น ได้แก่

พระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ สาธารณรัฐอินเดีย แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยประกอบภาพฝีพระหัตถ์ โดยพระราชทานกลับมาที่ผู้ออกแบบและดำเนินการต่อมาจนแล้วเสร็จ อีกทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุกลับสู่แดนพุทธภูมิ และเส้นพระเจ้า เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐานในพระธาตุเจดีย์ ที่ได้รับสั่งแก่ผู้ใกล้ชิดว่า “เจดีย์ของเรา”

     ทั้งนี้แนวความคิดในการออกแบบตามพระราชดำริ จะมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบไทย ซึ่งประสมประสานลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมธาตุเจดีย์ที่ปรากฎในประเทศไทยมาแต่ครั้งโบราณ ซึ่งเมื่อสถาปนิกผู้ถวายงาน ได้จัดทำแบบร่างพระธาตุเจดีย์เพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย พระองค์ได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยและพระราชทานลายพระหัตถ์ในรูปแบบมายังสถาปนิกผู้ถวายงาน เพื่อปรับปรุงรูปแบบทูลเกล้าฯ ถวายทอดพระเนตรจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย

การอนุรักษ์พระพุทธรัตนสถาน บริเวณสวนศิวาลัย เขตพระราชฐานชั้นกลาง ในพระบรมมหาราชวัง แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗
     ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งถึงแนวทางแก้ไขภาพจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถานว่า “คติช่างไทยแต่โบราณ จะกำหนดภาพเขียนให้มีความสัมพันธ์กับประวัติและความสำคัญของอาคาร แนวศิลปกรรมและการใช้สีขัดแย้ง กับภาพจิตรกรรมตอนบนที่เขียนเมื่อครั้งรัชกาลที่๔ อันเป็นการเขียนภาพแบบไทยประเพณี สมควรรักษาแนวคิด ของช่างโบราณ” พระพุทธรัตนสถานเป็นอาคารที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๔ การปรับเปลี่ยนจิตรกรรมฝาผนัง ก็ ควรจะต้องสอดคล้องกลมกลืนกับภาพตอนบนด้วย
พระอุโบสถวัดพระราม๙ กาญจนาภิเษก กรุงเทพมหานคร แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐
     ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระราชประสงค์ให้ พื้นที่บริเวณบึงพระราม๙ กรุงเทพมหานคร เป็นเมือง ตังอย่างของชุมชนที่มี บ้าน วัด โรงเรียน ตามหลักของ “บวร” ในการประสานความร่วมมือร่วมใจกันในการ พัฒนาชุมชนให้บังเกิดความเจริญยิ่งขึ้น ทั้งนี้แนวคิดตามพระราชดำริเมื่อสถาปนิกผู้ถวายงานได้นำแบบพระ อุโบสถขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระองค์มีรับสั่งให้ย่อขนาดของพระอุโบสถลง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพของชุมชน โดยรอบ ทั้งนี้พระอุโบสถได้รับการออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย โดยได้เค้าโครงมาจากพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เป็นพระอารามหลวง เป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๙ ปัจจุบันได้กลายเป็นวัดต้นแบบของ การพัฒนาชุมชนเมืองอย่างสมบูรณ์
พระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘
     ทรงมีกระแสพระราชดำรัสขณะเสด็จฯ เพื่อทรงประกอบพิธีทางศาสนาตามขัตติยราชประเพณี เนื่องในวันวิสาขบูชา ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๓ ว่า “ตั้งใจมานมัสการหลวงพ่อพุทธโสธรนานแล้ว ทำไมสร้างพระอุโบสถแบบนี้ ไม่ สมเกียรติหลวงพ่อพุทธโสธร ให้ปรับปรุงแก้ไขเสียใหม่” แนวความคิดในการออกแบบตามพระราชดำริ ได้เน้นการประยุกต์รูปแบบที่ไม่อิงตามแบบแผนของเขต พุทธาวาสทั่วไป ด้วยการรวมพระอุโบสถและพื้นที่ใช้สอยส่วนอื่นๆ เข้าเป็นอาคารหลังเดียวกันซึ่งเป็นแนวทาง การออกแบบสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ ๕
พระเมรุมาศ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีใน รัชกาลที่๗ ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘
     ทรงมีกระแสพระราชดำรัสถึงแนวทางการออกแบบว่า “ขอให้ดำเนินการโดยประหยัด แต่ให้ครบถ้วนตามขัตติย ราชประเพณี และสมพระเกียรติยศพระบรมศพ อีกประการหนึ่งฐานพระเมรุมาศไม่ควรสูงนักจะเป็นการลำบาก แก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่จะขึ้นถวายพระเพลิงพระบรมศพซึ่งทรงเจริญพระชนมายุมากพระพรรษาด้วยกันหลายพระองค์” สถาปนิกผู้ถวายงาน ได้นำความคิดในด้านรูปร่าง แบบและชั้นเชิงของพระเมรุมาศองค์กลางของสมเด็จพระศรี พัชรินทราบรมราชินีนาถ มาเป็นแนวทางในการออกแบบพระเมรุมาศของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗
ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙
     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งถึงรูปแบบของศาลหลักเมืองที่จะสร้างใหม่หลังนี้ว่า
“ศาลหลักเมืองนั้น ให้มีลักษณะเหมือนๆกับประตูพระบรมมหาราชวัง คือมีความสูง แต่มีมุขยื่นโดยรอบทั้งสี่
ด้าน” สถาปนิกผู้ถวายงาน จึงได้มีแนวคิดในการออกแบบตามพระราชดำริ ทำให้ศาลหลักเมืองหลังใหม่นี้ มีลักษณะ
สถาปัตยกรรมในยุคสมัยรัชกาลที่ ๕
ศาลสมเด็จพระเนรศวร จังหวัดหนองบัวลำภู แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑
     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งต่อเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายบุกยึดสถานีตำรวจอำเภอหนองบัวลำภู ซึ่งขณะนั้นยังเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุดรธานี และทรงมีพระราชดำริให้สร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้น เพื่อปลุกปลอบขวัญและกำลังใจให้ชาวบ้านรักบ้านรักเมืองว่า “เมื่อครั้งโบราณ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้เคยทรงกรีฑาทัพจากอยุธยาผ่านหนองบัวลำภูแห่งนี้ เพื่อไปทำศึกปกป้องบ้านเมือง”
     จากแนวคิดตามพระราชดำริดังกล่าว ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงได้รับการออกแบบให้มีลักษณะคล้ายหอพระ หรือศาลที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การออกแบบเน้นความเรียบง่าย และใช้วัสดุเป็นไม้ เพราะมีการเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จใน ๓ เดือน
พระอุโบสถวัดพุทธประทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙
     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการสร้างวัดไทยในกรุงลอนดอนไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งรัฐบาลไทยในขณะนั้น ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดตั้งวัดพระพุทธศาสนา ณ กรุงลอนดอน โดยมีพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
การออกแบบ ได้เน้นการประยุกต์รูปแบบและระบบการก่อสร้างอาคารที่เหมาะสมกับสภาพที่ตั้ง โดยมีอาคารเป็นตึกแบบอังกฤษ แต่หลังคาบางส่วน จะมีศิลปะแบบวัดไทย

     จากพระอัจฉริยภาพทางด้านสถาปัตยกรรมไทยของพระองค์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสถาปัตยกรรมไทย แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗



 

 

การเกษตร
การบริหารจัดการน้ำ
เทคโนโลยีสารสนเทศ
ดนตรี
จิตรกรรม
ประติมากรรม
ถ่ายภาพ
หัตถกรรม
สถปัตยกรรม
กีฬา
วรรณกรรมและการแปล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ห้ามนำข้อมูลของเวปไซท์นี้ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร