พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยในการดนตรีตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ทรงคือหีบเพลง (Accordion) หลังจากนั้น ก็ได้ทดลองเล่นแซ็กโซโฟน และแคลริเน็ต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงศึกษาและฝึกฝนตามโน้ต และเน้นบรรเลงดนตรีแบบคลาสสิกเป็นพื้นฐาน โดยทรงเลือกเครื่องดนตรีประเภทเป่าทั้งสองอย่าง คือแซ็กโซโฟนและแคลริเน็ต เป็นเครื่องดนตรีประจำพระองค์

     ขณะที่ทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในดนตรีแจ๊ส ทรงโปรดการฟังแผ่นเสียงของนักดนตรีแจ๊สชั้นนำหลายท่าน ซึ่งการฟังดนตรีแจ๊สของพระองค์นั้น ไม่ใช่เพื่อความเพลิดเพลินเพียงอย่างเดียว แต่พระองค์ประสงค์ที่จะศึกษาและเปรียบเทียบแนวทางการเล่นดนตรีของนักดนตรีแต่ละคน พร้อมทั้งทรงฝึกฝนการเล่นดนตรีแจ๊สด้วยพระองค์เอง โดยทรงเครื่องเป่าไปพร้อมกับเสียงเพลงจากแผ่นเสียงของนักดนตรีแจ๊สที่ต้องพระราชหฤทัย เช่น ซิดนีย์ เบเชต์ (Sydney Bechet) ดุค เอลลิงตัน (Duke Ellington) ฯลฯ

     ทั้งนี้ ด้วยพระอัจฉริยภาพส่วนพระองค์ ประกอบกับการฝึกฝนด้วยพระองค์เองอย่างสม่ำเสมอ ทำให้พระองค์เป็นนักดนตรีผู้มีฝีมือระดับสูง ทรงมีพระปรีชาสามารถในการเป่าโซปราโนแซ็กโซโฟนได้อย่างดีเยี่ยม นอกจากนี้ ยังเคยทรงแซ็กโซโฟนและแคลริเน็ต โต้ตอบกับนักดนตรีแจ๊สที่มีชื่อเสียงของโลก อย่างเช่น เบนนี่ กู๊ดแมน (Benny Goodman) หรือสแตน เก็ทซ์ (Stan Getz) ได้อย่างคล่องแคล่วอีกด้วย

     ทั้งนี้ ดนตรีประเภทที่ทรงโปรด คือดนตรีแจ๊สดิ๊กซีแลนด์ ซึ่งเป็นสไตล์ของชาวอเมริกันแห่งเมืองนิวออลีนส์ เป็นแจ๊สที่มีจังหวะตื่นเต้น ครึกครื้น สนุกสนานเร้าใจ ใช้ดนตรีไม่กี่ชิ้นก็สามารถเล่นได้ เหมาะกับนักดนตรีสมัครเล่นที่ตั้งวงเล่นในหมู่มิตรสหายที่คุ้นเคยกัน โดยเวทีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้บรรเลงดนตรีอยู่เสมอ คือการเล่นหลังการเลี้ยงอาหารไทยแก่นักเรียนไทยที่อพยพจากประเทศข้างเคียงไปเรียนที่เมืองโลซานน์ ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารทุกวันในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง

     ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ หลังจากที่ได้เสด็จนิวัตประเทศไทย ได้ทรงรวบรวมพระประยูรญาติที่เป็นนักดนตรี มาจัดตั้งวง “ลายคราม” เป็นวงดนตรีส่วนพระองค์ ร่วมเล่นดนตรี ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ทุกเย็นวันศุกร์ และในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ กรมประชาสัมพันธ์ได้น้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องส่งวิทยุกำลังส่ง ๑๐๐ วัตต์ พระองค์จึงทรงจัดตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ขึ้น เพื่อเป็นสื่อกลางให้ความบันเทิงและสาระประโยชน์ ตลอดจนข่าวสารต่างๆ แก่ประชาชน โดยวงดนตรีลายคราม ได้มีโอกาสบรรเลงเพลงผ่านทางสถานีวิทยุ อ.ส. เป็นประจำทุกวันศุกร์

     ต่อมา พระองค์มีพระราชดำริที่จะปรับปรุงวงดนตรีลายคราม เพราะนักดนตรีกิตติมศักดิ์บางท่านไม่สามารถมาร่วมเล่นดนตรีได้เต็มที่ จึงต้องหานักดนตรีจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เคยมาบรรเลงที่สถานีวิทยุ อ.ส. ก่อนจะพระราชทานชื่อวงใหม่ว่า “วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์” โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงดนตรีกับวง อ.ส. วันศุกร์เป็นประจำ รวมถึงทรงจัดรายการเพลงและเลือกแผ่นเสียงด้วยพระองค์เอง และบางครั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ฟังโทรศัพท์เข้ามาขอเพลงจากวงดนตรีที่กำลังบรรเลงได้อีกด้วย

     นอกจากจะทรงดนตรีได้เป็นเลิศแล้ว พระองค์ยังเป็นนักดนตรีที่เอาพระทัยใส่ในเรื่องการบำรุงรักษาเครื่องดนตรี โดยเครื่องดนตรีส่วนพระองค์ จะทรงทำความสะอาดเอง ทรงเก็บเอง และยังทรงเป็นครูสอนช่างซ่อมเครื่องดนตรีอีกด้วย โดยเฉพาะการซ่อมแตรที่จะทรงทราบวิธีซ่อมเป็นอย่างดี

     นอกจากการทรงดนตรีในประเทศไทยแล้ว เมื่อเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ ก็ได้แสดงพระอัจฉริยภาพในการแสดงดนตรีร่วมกับนักดนตรีที่มีชื่อเสียงโดยมิได้เตรียมพระองค์มาก่อน นอกจากจะทรงได้รับการยกย่องถึงความมีอัจฉริยภาพดังกล่าวแล้ว พระองค์ยังทรงใช้ดนตรีเป็นเครื่องกระชับสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้านให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอีกด้วย

     นอกจากการร่วมทรงดนตรีกับบุคคลที่มีชื่อเสียง สถานีวิทยุกระจายเสียงของต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรีย ยังได้เชิญบทพระราชทานสัมภาษณ์ พร้อมทั้งวงดนตรีที่ทรงร่วมบรรเลง กระจายเสียงทางสถานีวิทยุไปทั่วโลก และกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเอเชียพระองค์แรก ที่ได้แสดงผลงานในนครแห่งดนตรีของโลกให้เป็นที่ประจักษ์ และด้วยพระอัจฉริยภาพอันสูงส่งทางด้านดนตรีของพระองค์ สถาบันการดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนา (Die Akademie fur Musik und Darstellende Kunst in Wien – The Academy for Music and Performing Arts in Vienna)
ได้ทูลเกล้าฯ ถวายประกาศนียบัตรเกียรติคุณชั้นสูงแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ ลำดับที่ ๒๓ พร้อมทั้งได้จารึกพระพระปรมาภิไธยลงบนแผ่นศิลาของสถาบัน ทั้งนี้ พระองค์ท่าน เป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้เป็นสมาชิกของสถาบันแห่งนี้

     ไม่เพียงแต่พระองค์จะทรงสนพระราชหฤทัยในดนตรีสากลเท่านั้น แต่ยังได้ทรงสนับสนุนการทางด้านดนตรีไทยด้วย โดยได้มีพระราชประสงค์ที่จะอนุรักษ์ดนตรีไทยและนาฏศิลป์ไทยให้อยู่คู่กับชาติไทยตลอดไป นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีครอบประธานครูโขนละคร และต่อกระบวนท่ารำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ซึ่งเป็นเพลงหน้าพาทย์สูงสุดในวิชาดนตรีและนาฏศิลป์ไทยอีกด้วย

     นอกจากจะทรงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรีประเภทต่างๆ แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระปรีชาสามารถในการแต่งคำร้อง ทำนอง และเรียบเรียงเสียงประสาน เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ ซึ่งเพลงพระราชนิพนธ์เหล่านี้ นอกจากท่วงทำนองที่ไพเราะแล้ว ยังมีเนื้อร้องที่มีคติสอนใจอีกด้วย ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ให้กับเหล่าทหาร ตลอดจนวงดนตรีต่างๆ รวมถึงวงดนตรีประจำมหาวิทยาลัยอีกด้วย ทั้งนี้ เพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น ๔๘ เพลง ดังนี้

๑. เพลงแสงเทียน
เพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก โดยทรงพระราชนิพนธ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช และได้นำเพลงนี้ออกบรรเลงครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๙๐
๒. เพลงยามเย็น
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ และได้พระราชทานเพลงนี้ให้แก่นายเอื้อ สุนทรสนาน บรรเลงในงานของสมาคมปราบวัณโรค ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ นับเป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกที่นำออกบรรเลงสู่ประชาชน
๓. เพลงสายฝน
ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙ บรรเลงครั้งแรกในงานรื่นเริงของสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร
๔. เพลงใกล้รุ่ง
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ และได้พระราชทานให้วงดนตรีสุนทราภรณ์นำออกมาบรรเลงครั้งแรกทางสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมโฆษณาการ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙
๕. เพลงชะตาชีวิต
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์และเสด็จฯ กลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
๖. เพลงดวงใจกับความรัก
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐
๗. เพลงมาร์ชราชวัลลภ
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ และพระราชทานให้เป็นเพลงประจำกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ เพื่อใช้ในพิธีสวนสนาม
๘. เพลงอาทิตย์อับแสง
ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ขณะประทับแรมอยู่ที่เมืองดาโวส์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
๙. เพลงเทวาพาคู่ฝัน
ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒
๑๐. เพลงคำหวาน
ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒
๑๑. เพลงมหาจุฬาลงกรณ์
ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปี ๒๔๙๒ ต่อมาได้พระราชทานทำนองเพลงให้เป็นเพลงประจำจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย นับเป็นเพลงไทยเพลงแรกที่เรียบเรียงจากโน้ตเพลงไทยสากล ปัจจุบัน จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยใช้เพลงนี้สำหรับโหมโรงในการบรรเลงดนตรีไทยของชมรมดนตรี
๑๒. เพลงแก้วตาขวัญใจ
ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒
๑๓. เพลงพรปีใหม่
ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เมื่อเสด็จนิวัตพระนครและได้เข้าประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต โดยพระประสงค์ที่พระราชนิพนธ์เพลงนี้ เพื่อพระราชทานพรปีใหม่แกพสกนิกรไทยด้วยเพลงนี้ เมื่อทรงพระราชนิพนธ์เสร็จ ได้พระราชทานเพลงนี้ให้แก่วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์
๑๔. เพลงรักคืนเรือน
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ พระราชทานให้นำออกบรรเลงในงานสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์
๑๕. เพลงยามค่ำ
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ พระราชทานให้นำไปบรรเลงในงานของสมาคมศิษย์เก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมน์
๑๖. เพลงยิ้มสู้
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ.๒๔๙๕ ทรงพระราชทานให้นำไปบรรเลงในงานสมาคมช่วยคนตาบอดในพระราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศ สวนอัมพร
๑๗. เพลงมาร์ชธงไชยเฉลิมพล
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ.๒๔๙๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานแก่กองทัพไทย เพื่อใช้ในการเชิญธงไชยเฉลิมพลในพิธีการกองทัพ
๑๘. เพลงเมื่อโสมส่อง
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ ได้พระราชทานให้นำไปบรรเลงในงานรื่นเริงประจำปี ของสมาคมศิษย์เก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมน์
๑๙. เพลงลมหนาว
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ ได้พระราชทานเพลงนี้ออกบรรเลงครั้งแรกในงานประจำปีงานสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์
๒๐. เพลงศุกร์สัญลักษณ์
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ ได้พระราชทานออกบรรเลงครั้งแรกทางสถานีวิทยุ อ.ส.
๒๑. เพลง Oh I Say (!)
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ ได้พระราชทานให้นำออกบรรเลงในงานของสมาคมศิษย์เก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมน์
๒๒. เพลง Can’t You Ever See
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ ในงานรื่นเริงประจำปี ของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์
๒๓. เพลง Lay Kram Goes Dixie
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ นำออกบรรเลงเป็นครั้งแรกทางสถานีวิทยุ อ.ส
๒๔. เพลง ค่ำแล้ว
ทรงพระราชนิพนธ์ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประพันธ์คำร้องภาษาไทย มีเรื่องเล่าว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอุ้มสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไว้ในอ้อมพระกรข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งทรงอิเล็กโทนเพลงพระราชนิพนธ์ Lullaby แล้วสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์น้อยก็หลับไป
๒๕. เพลง สายลม
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ พระราชทานให้นำออกบรรเลงครั้งแรกในงานของสมาคมศิษย์เก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมน์
๒๖. เพลง ไกลกังวล : เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ พระราชทานให้นำออกบรรเลงในงานสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์
๒๗. เพลง แสงเดือน
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ.๒๕๐๑ จึงได้พระราชทานให้อัญเชิญไปประกอบการแสดงบัลเล่ต์ ในงานสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์
๒๘. เพลง ฝัน
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ.๒๕๐๒ พระราชทานให้บรรเลงในงานสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรม
ราชูปถัมภ์
๒๙. เพลง มาร์ชราชนาวิกโยธิน
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ.๒๕๐๒ นำออกบรรเลงครั้งแรก ณ สนามกีฬาแห่งชาติ ในงานราชนาวีไทย นาวิกโยธินอเมริกัน เพื่อหารายได้สมทบทุนมูลนิธิ “มหิดล”
๓๐. เพลง ภิรมย์รัก A Love Story
เพลงพระราชนิพนธ์ชุด Kinari Suite ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๕๐๒ เพื่อประกอบการแสดงบัลเลต์ชุด “มโนห์รา” ซึ่งนอกจากจะทรงแยกและเรียบเรียงเสียงประสานด้วยพระองค์เองทั้งชุดแล้ว ยังทรงควบคุมการฝึกซ้อมการแสดงด้วยพระองค์เองอีกด้วย เพลงพระราชนิพนธ์ชุดนี้ ประกอบไปด้วย ๔ เพลง คือ อันดับที่ ๓๐ เพลง ภิรมย์รัก A Love Story อันดับที่ ๓๑ เพลง Nature Waltz อันดับที่ ๓๒ เพลง The Hunter และอันดับที่ ๓๓ เพลง Kinari Waltz
๓๑. Nature Waltz
เพลงประกอบในเพลงพระราชนิพนธ์ชุด Kinari Suite
๓๒. เพลง The Hunter
เพลงประกอบในเพลงพระราชนิพนธ์ชุด Kinari Suite
๓๓. Kinari Waltz
เพลงประกอบในเพลงพระราชนิพนธ์ชุด Kinari Suite
๓๔. เพลง แผ่นดินของเรา
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ.๒๕๐๒ นำออกบรรเลงครั้งแรก ณ ศาลาผกาภิรมย์ สวนจิตรลดา
๓๕. เพลง พระมหามงคล
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ.๒๕๐๒ ทรงให้เป็นเพลงประจำวงดนตรีสุนทราภรณ์ในโอกาสที่ก่อตั้งมาครบ ๒๐ ป
๓๖. เพลง ธรรมศาสตร์
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ.๒๕๐๕ พระราชทานเพลงที่สมบูรณ์แล้วให้แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในโอกาสที่เสด็จราชดำเนินเป็นครั้งแรก
๓๗. เพลง ในดวงใจนิรันดร์
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ.๒๕๐๘ ทรงพระราชนิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองเป็นเพลงแรก
๓๘. เพลง เตือนใจ
ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษ ใน พ.ศ. ๒๕๐๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค และหม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย
๓๙. เพลง ไร้จันทร์ : ไร้เดือน
ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษพร้อมกัน ในปีพ.ศ. ๒๕๐๘ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายอาจินต์ ปัญจพรรค์ ประพันธ์คำร้องภาษาไทยชื่อ “ไร้จันทร์” ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค และหม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ ประพันธ์คำร้องภาษาไทยชื่อ “ไร้เดือน”
๔๐. เพลง เกาะในฝัน
ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษพร้อมกัน ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค และหม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย
๔๑. เพลง แว่ว
ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษพร้อมกัน ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เพลงนี้วงดนตรีสุนทราภรณ์นำออกบรรเลงเป็นครั้งแรกในงานสังคีตมงคล ครั้งที่๑ ณ บริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
๔๒. เพลง เกษตรศาสตร์
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ.๒๕๐๙ พระราชทานเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นำออกบรรเลงเป็นครั้งแรกในวันทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีสากลของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
๔๓. เพลง ความฝันอันสูงสุด
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ.๒๕๑๔ ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ได้รับพระราชเสาวนีย์จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้เขียนบทกลอนแสดงความนิยมส่งเสริมคนดีให้มีกำลังใจทำงานเพื่ออุดมคติเพื่อประเทศชาติ
๔๔. เพลง เราสู้
ทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง นายสมภพ จันทรประภา ใส่คำร้องโดยประพันธ์เป็นกลอนสุภาพ ๔ บท ใน พ.ศ.๒๕๑๖ คำร้องนี้นายสมภพได้ขอพระราชทานพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติ ซึ่งได้จัดการแข่งฟุตบอล เพื่อนำรายได้ทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล และเข้าเฝ้าฯ ณ ตำหนักจิตรลดารโหฐาน
๔๕. เพลง เรา-เหล่าราบ ๒๑
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ.๒๕๑๙ จึงทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงพระราชทาน นับเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓ ที่ทรงจากคำร้อง
๔๖. เพลง Blues for Uthit
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ.๒๕๒๒ พระราชนิพนธ์เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ นายอุทิตต์ ทินกร ณ อยุธยา นำออกบรรเลงครั้งแรกทางสถานีวิทยุ อ.ส.
๔๗. เพลง รัก
ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ.๒๕๓๗ ทรงบรรเลงดนตรีนำด้วยพระองค์เองต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้นำออกอากาศทางสถานีวิทยุ จ.ส.๑๐๐ เมื่อต้นปี ๒๕๓๘
๔๘. เพลง เมนูไข่
ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๘ เพื่อพระราชทานเป็นของขวัญวันพระราชสมภพครบ
๗๒ พรรษา สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ นำออกบรรเลงและ
ขับร้องในงานพระราชทานเลี้ยงฉลองสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราช
นครินทร์ ณ ศาลาดุสิดาลัย

 

 

การเกษตร
การบริหารจัดการน้ำ
เทคโนโลยีสารสนเทศ
ดนตรี
จิตรกรรม
ประติมากรรม
ถ่ายภาพ
หัตถกรรม
สถปัตยกรรม
กีฬา
วรรณกรรมและการแปล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ห้ามนำข้อมูลของเวปไซท์นี้ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร